ข้อมูลองค์กร

ประวัติความเป็นมา

 

สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 11 (อุบลราชธานี) ตั้งอยู่เลขที่ 106 หมู่ที่ 2  บ้านนางิ้ว  ตำบลกระโสบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี  จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ ที่ตั้งห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 15 กม.

อาณาเขต        ทิศเหนือ ติดที่สาธารณะประโยชน์บ้านนางิ้ว

                   ทิศตะวันออก ติดบ้านนางิ้ว

                   ทิศใต้ ติดถนนทางหลวงชนบท หมายเลข อบ. 4009 (ซอยขุนโอ๊ต)

                   ทิศตะวันตก ติดศูนย์ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนารายได้ บ้านนางิ้ว ตำบลกระโสบ

เดินทางโดยรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2050 (อุบลฯ-เขมราฐ) กม.ที่ 6+700  เลี้ยวขวาตามทางหลวงชนบท หมายเลข อบ. 4009 (ซอยขุนโอ๊ต) ประมาณ 4 กม.

ความเป็นมา

ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้ระบบราชการเป็นกลไกและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างสมรรถนะของประเทศในการแข่งขันระดับโลกสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการและสร้างวัฒนธรรมใหม่ในระบบราชการ จึงได้ยุบรวมหน่วยงานที่มีภารกิจด้านน้ำบาดาล ตั้งขึ้นเป็นกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และมีพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตั้ง “ศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล ภาค 7” รับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดยโสธร  จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี  ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนเป็น “สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี)” จนถึงปัจจุบัน

ก่อนนี้ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ตั้งอยู่เลขที่ 159  บ้านท่าบ่อ  ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี  จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันปรับปรุงเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่) เดิมเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาบ่อน้ำบาดาลอุบลราชธานี ฝ่ายพัฒนาน้ำบาดาล 1 นครราชสีมา  สังกัดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม

 

จากท่าบ่อสู่นางิ้ว

เนื่องจากบริเวณพื้นที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ที่บ้านท่าบ่อ คับแคบไม่เพียงพอต่อการใช้จัดเก็บวัสดุเจาะ เครื่องจักรเจาะบ่อ ยานพาหนะ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ       นายพันธ์ศักดิ์  ธีรปัญญาภรณ์  ผู้อำนวยการสำนักฯ (ขณะนั้นยังเป็นศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล ภาค 7)  ได้เล็งเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา จึงมอบหมายให้ นางนุชรี ถ้ำกลาง จัดหาสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่ ที่มีเนื้อที่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งได้ติดต่อเพื่อขอใช้ที่สาธารณะประโยชน์ตำบลกระโสบ และด้วยความอนุเคราะห์จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระโสบ กำนันตำบลกระโสบ ชาวบ้านนางิ้ว ได้เห็นชอบที่แบ่งพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านนางิ้วให้ก่อสร้างสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) เนื้อที่ 24 ไร่เศษ

หลังจากองค์การบริหารส่วนตำบลกระโสบ มีมติให้ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) ใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะประโยชน์ของตำบลกระโสบ จำนวน 24 ไร่เศษ  ก็ได้มีการเข้าไปปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ ขอรังวัดเขตแดนและดำเนินการขอใช้พื้นที่ตามระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ เป็นพื้นที่ครอบครองโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เมื่อ พ.ศ. 2560

การก่อสร้าง

การก่อสร้างสำนักฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบบริเวณสำนักฯ วงเงินประมาณ 1,600,000 บาท (ผอ.ศักดิ์ฉลาด ศรีวิชา เป็นผู้อำนวยการสำนักฯ)

2. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ก่อสร้างอาคารสำนักงานพร้อมอาคารประกอบ วงเงินประมาณ 14,393,300 บาท (ผอ.นรชิด  คชาชีวะ เป็นผู้อำนวยการสำนักฯ)

          2.1 ก่อสร้างอาคารสำนักงาน  จำนวน 1 หลัง วงเงินงบประมาณ 8,293200 บาท

2.2 ก่อสร้างอาคารเก็บพัสดุ จำนวน 1 หลัง วงเงินงบประมาณ 1,637,300 บาท

2.3 ก่อสร้างถนนรอบอาคารสำนักงาน ระยะทาง 800 ม. วงเงินงบประมาณ 2,927,900 บาท

2.4 ก่อสร้างเสาธง จำนวน 1 แห่ง วงเงินงบประมาณ 232,000 บาท

2.5 ก่อสร้างโรงจอดรถ จำนวน 1 หลัง วงเงินงบประมาณ 298,700 บาท

2.6 ขยายเขตไฟฟ้า จำนวน 1 ระบบ วงเงินงบประมาณ 1,004,200 บาท

กว่าจะมาเป็นสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11(อุบลราชธานี)

  • ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 เป็นศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี)
  • ปี พ.ศ. 2546 – 2547 (ผอ.พันธ์ศักดิ์ ธีรปัญญาภรณ์) มอบหมายให้ นางนุชรี ถ้ำกลาง (ป้าปิ๋ว) หาพื้นที่เพื่อก่อสร้างสำนักงานแทนที่เดิมที่มีความคับแคบ และได้ที่สาธารณะบ้านนางิ้ว ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี แต่ยังไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่องจาก ผอ.พันธ์ศักดิ์ ได้รับคำสั่งย้ายกลับไปปฏิบัติงานที่สุพรรณบุรี
  • ปี พ.ศ. 2547 – 2550 (ผอ.ไพฑูรย์ พัฒนสารสมบัติ) ทำหนังสือถึงที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอรังวัดพื้นที่แบ่งออกจากที่สาธารณะแปลงใหญ่
  • ปี พ.ศ. 2550 – 2552 (ผอ.จีระศักดิ์ ชัยสุวรรณ์) ปรับปรุงพื้นที่ทำรังวัดเขตแดน
  • ปี พ.ศ. 2552 – 2553 (ผอ.วิลาวัณย์ ไทยสงคราม) ปรับปรุงพื้นที่เริ่มนำต้นไม้เข้ามาปลูก
  • ปี พ.ศ. 2553 – 2554 (ผอ.ศักดิ์ฉลาด ศรีวิชา) ก่อสร้างรั้วรอบสำนักงานและก่อสร้างป้ายสำนักงาน เงินงบประมาณ 1,600,000 บาท
  • ปี พ.ศ. 2554 – 2556 (ผอ.อดิเรก กฤษณะเศรณี) ก่อสร้างทางเข้าสำนักงานเชื่อมกับทางหลวงชนบท หมายเลข อบ.4009 (ซอยขุนโอ๊ต) ขุดลอกสระน้ำหน้าสำนักงาน
  • ปี พ.ศ. 2556 – 2558 (ผอ.การุณ สาครวงค์) ทำผังบริเวณสำนักงาน ทำถนนลูกรังภายในสำนักงาน ก่อสร้างป้อมยาม ก่อสร้างอาคารที่พัก เจาะบ่อน้ำบาดาลและก่อสร้างระบบประปา 12 ลบ.ม. ปลูกต้นพะยูงตามแนวถนน ปรับปรุงพื้นที่ ขนย้ายท่อ ย้ายเครื่องจักรที่ชำรุดจากศูนย์ท่าบ่อและศูนย์ศรีสะเกษ เข้ามาจัดเก็บที่กระโสบ
  • ปี พ.ศ. 2558 – 2559 (ผอ.ศักดิ์ชัย โอศิริพัฒน์) เจาะบ่อน้ำบาดาลและก่อสร้างระบบประปา 20 ลบ.ม. บริเวณด้านหลังสำนักงาน ทำหนังสือขอถอนสภาพที่ดินออกจากที่สาธารณะ ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงานพร้อมอาคารประกอบ
  • ปี พ.ศ. 2559 – 2560 (ผอ.นรชิต คชาชีวะ) ก่อสร้างอาคารสำนักงานพร้อมอาคารประกอบ จำนวน 6 รายการ