ข้อมูลองค์กร

สาระน่ารู้เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ

คุณภาพของน้ำบาดาล

ด้านกายภาพ

ความขุ่น (Turbidity)

หน่วย NTU (Nephelometric Turbidity Units) 1 NTU = 1มิลลิกรัม ของความขุ่น (formazin) ในน้ำ 1ลิตร

ความขุ่นของน้ำเกิดจาก สารแขวนลอยในน้ำ ในรูปสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ หรือคอลลอยด์โดยสิ่งเหล่านี้จะไปบดบังทำให้แสงหักเหเมื่อมีแสงส่องผ่าน
ทำให้มองเห็นความขุ่นในน้ำขึ้น ความขุ่นของน้ำจึงขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณของสารแขวนลอย การกระจัดกระจายและความสามารถในการดูดซับแสง
ของสารแขวนลอยเหล่านั้น ความขุ่นของน้ำเป็นดัชนีคุณภาพน้ำที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด ค่าความขุ่นจึงมีความสำคัญต่อทัศนคติในการเลือกอุปโภค บริโภค
ของผู้ใช้น้ำ ค่าความขุ่นยังมีผลต่อต่อปริมาณสารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำ ถ้าน้ำมีค่าความขุ่นสูงจะทำให้
สิ้นเปลืองสารเคมีในการลดความขุ่น และทำให้เครื่องกรองอุดตันเร็ว มีอายุการใช้งานสั้นลง น้ำที่มีความขุ่นสูง จะทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคลดลง
โดยจุลินทรีย์บางส่วนอาจอาศัยหลบซ่อนอยู่ตามอนุภาคแขวนลอยทำให้โอกาศที่สัมผัสกับสารเคมีที่ฆ่าเชื้อโรคน้อยลง

 

สี (color)

สีของน้ำตามธรมชาติเกิดจากการสลายตัวของสารอินทรีย์วัตถุ เช่น ต้นหญ้า พืชน้ำ หรือใบไม้ที่เน่าเปื่อยทับถมกัน จึงมีสีน้ำตาลปนเหลือง
หรือสีชาเป็นสารพวกแทนนิน กรดฮิวมิก นอกจากนี้สีอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมที่มีสี สีของน้ำจะมี 2 ชนิดด้วยกันคือ

 - สีปรากฏ (apparent color) คือสีที่เกิดจากสารแขวนลอยต่างๆ ซึ่งสามารถแยกออกไปได้ เมื่อกำจัดสีปรากฏออกไปแล้วจะเห็นสีจริงของน้ำ

 - สีจริง (true color )เกิดจากสารละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ กำจัดออกไปยาก สีชนิดนี้เกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์

ถึงแม้ว่าสีที่เกิดโดยธรรมชาติจากการย่อยสลายของพืชต่างๆ จะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็มีผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภค

 

รสและกลิ่น (taste and ordor)

รสและกลิ่นเกิดจากสารอินทรีย์วัตถุเป็นส่วนใหญ่ และอาจเกิดจากสารอนินทรีย์วัตถุบางตัว กลิ่นในน้ำอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
เกิดจากสาหร่ายบางชนิดที่สามารถสร้างน้ำมันระเหย (volatile oil) เกิดจากแบคทีเรียย่อยสลายสารอินทรีย์ แล้วเกิดก๊าซต่างๆเช่นก๊าซไข่เน่า (H2S)
รวมทั้งอาจเกิดจากสารเคมี ที่ใส่ลงไปฆ่าเชื้อในระบบประปามากเกินไป เช่นกลิ่นคลอรีนในน้ำ สำหรับรสในน้ำมักเกิดจากสารอนินทรีย์ เช่น
สารประกอบพวกด่างจะทำให้น้ำมีรสขม ในขณะที่เกลือของโลหะจะให้รสกร่อยหรือขม แล้วแต่ชนิดของโลหะกับเกลือ นอกจากนี้การปล่อยน้ำเสีย
ลงไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำ อาจทำให้รสและกลิ่นผิดไปจากธรรมชาติได้

 

ด้านเคมี

ค่าความเป็นกรดด่างหรือค่าพีเอช(pH)

น้ำธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีค่า pH ค่อนข้างเป็นกลางอยู่ในช่วง 6.5 – 8.5 ยกเว้นน้ำที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ อาจมี pH ต่ำกว่า 5 ส่วนน้ำกระด้าง
ที่มีคาร์บอเนตละลายอยู่อาจมี pH สูงกว่า 9
pH มีผลต่อปฏิกิริยาทางเคมีและความสมดุลทางเคมีต่างๆ ในน้ำ ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำจึงต้องควบคุมค่าpH ในการใช้สารเคมี เช่น
การตกตะกอนด้วยสารเคมี
การแก้น้ำกระด้าง การฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ถ้าค่า pH ต่ำมากจะมีฤทธิืในการกัดกร่อนทำให้ท่อและอุปกรณ์ชำรุดได้

 

ความเป็นกรด (acidity) แบ่งเป็น 2 ประเภท

 - ความเป็นกรดเนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 acidity) พบในน้ำธรรมชาติทั่วไป เป็นผลของปฏิกิริยาระหว่าง COกับน้ำ
เกิดเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) ซึ่งเป็นกรดอ่อน น้ำในธรรมชาติที่มีความเป็นกรดประเภทนี้เพียงอย่างเดียวจะมีค่าพีเอชสูงกว่า 4.5

 - ความเป็นกรดเนื่องจากกรดแร่ (mineral acidity) ส่วนใหญ่มักจะพบได้จากการปนเปื้อนของน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมที่มีการใช้กรด
และน้ำที่มีความเป็นกรดประเภทนี้จะมีค่าพีเอชต่ำกว่า 4.5

อย่างไรก็ตามการนำน้ำที่มีความเป็นกรดที่เกิดจากการละลายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงอย่างเดียวมาบริโภคนั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เช่น น้ำโซดาหรือน้ำอัดลมที่มีก๊าซCO2อยู่มากกว่าที่มีในธรรมชาติ แต่ถ้าน้ำที่มีความเป็นกรดเนื่องจากกรดแร่ ไม่สมควรดื่มเพราะจะไปกัดทางเดินอาหาร
และกระเพาะ ทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ค่าพีเอชยังมีผลต่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เช่น การตกตะกอนสารส้มหรือการแก้น้ำกระด้างด้วยวิธีไลม์โซดา

 

ความกระด้าง (hardness) น้ำกระด้างเป็นน้ำที่มีการละลายของอิออนโลหะที่มีประจุบวกสอง เช่น แคลเซียม และแมกนีเซียม ความกระด้างมี 2 ประเภทคือ

 - ความกระด้างชั่วคราว (carbonate hardness) ความกระด้างประเภทนี้เกิดจากเกลือไบคาร์บอเนต และคาร์บอเนตของแคลเซียมและแมกนีเซียมละลายอยู่
การแก้ความกระด้างชั่วคราวสามารถทำได้โดยการต้มเพื่อให้เกิดตะกอนของเกลือแคลเซียมคาร์บอเนต

 - ความกระด้างถาวร (noncarbonate hardness) ความกระด้างประเภทนี้เกิดจากเกลือซัลเฟต หรือเกลือคลอไรด์ของแคลเซียมและแมกนีเซียม
ความกระด้างประเภทนี้สามารถแก้ด้วยการกลั่น การกรองเรซิ่นการใช้โซดาแอช (โซเดียมคาร์บอเนต) เพื่ิอตกตะกอน เป็นต้น

 

เหล็ก(iron)และแมงกานีส(manganese) เป็นธาตุที่พบทั่วไปในดินและหินในธรรมชาติ
เหล็กและแมงกานีสสามารถเปลี่ยนเป็นรูปของสารละลายในน้ำหากน้ำมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีสภาพเป็นกรด เหล็กเฟอร์ริก (Fe3+) ซึ่งไม่ละลายในน้ำ
จะถูกรีดิวซ์เป็นเฟอรัส (Fe2+) ละลายอยู่ในน้ำภายใต้สภาพไร้อากาศและแมงกานีสจะถูกรีดิวซ์จากประจุ +4 ซึ่งไม่ละลายในน้ำเป็นประจุ +2 ซึ่งอยู่ในรูป
สารละลายในน้ำได้ น้ำที่มีเหล็กและแมงกานีสอยู่จะไม่มีผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากนักแต่เป็นสาเหตุของความน่ารังเกียจที่จะดื่มน้ำนั้น เช่น ทำให้น้ำมีรสขม
ทำให้น้ำมีสีแดง น้ำตาลหรือดำหากใช้ซักล้างทำให้เกิดรอยด่างบนเสื้อหรือมีคราบบนสุขภัณฑ์และเครื่องใช้ต่างๆ

 

คลอไรด์ (chlorides) คลอไรด์ส่งผลต่อรสของน้ำเนื่องจากน้ำที่มีปริมาณคลอไรด์ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร จะมีรสกร่อยค่อนข้างเค็ม

 

ฟลูออไรด์ (fluoride)
เป็นธาตุจำเป็นสำหรับการสร้างกระดูกและฟัน ดังนั้นหากได้รับฟลูออไรด์น้อยเกินไปอาจทำให้ฟันเปราะหรือหักง่าย แต่ถ้าฟูออไรด์มากกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร
จะทำให้ฟันเกิดเป็นคราบหรือเป็นจุดดำ ปริมาณที่เหมาะสมที่ควรให้มีในน้ำดื่มคือประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อลิตร

 

ไนไตรท์และไนเตรท (nitrite,nitrate)
เกิดจากการย่อยสลายของอินทรีย์วัตถุต่างๆโดยเกิดปฏิกิริยาชีวเคมีของจุลินทรีย์ในการออซิเดชั่นแอมโมเนียได้ไนไตรท์และเปลี่ยนเป็นไนเตรท
ในด้านสุขภาพอนามัย ไนเตรทจะมีผลต่อสุขภาพของเด็กอ่อนที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะลำไส้เด็กในเวลานี้มีความเป็นกรดพอเหมาะ
กับความต้องการของแบคทีเรียประเภทไนเตรทรีดิวส์ซิ่งแบคทีเรียที่จะเปลี่ยนไนเตรทเป็นไนไตรท์ เมื่อไนไตรท์ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด
จะเข้าจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจน ได้สารประกอบสีน้ำเงิน หากปล่อยทิ้งไว้เด็กจะตัวเขียวคล้ำขาดอากาศหายใจ
และอาจเสียชีวิตในที่สุด เรียกอาการแบบนี้ว่า บลูเบบี

 

ตะกั่ว (lead)
น้ำตามธรรมชาติจะไม่มีตะกั่วปนเปื้อน ยกเว้นเกิดการปนเปื้อนจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ น้ำที่มีตะกั่วละลายอยู่ไม่มากนักก็อาจเป็นอันตรายต่อการบริโภคได้
เพราะตะกั่วมีฤทธิ์สะสมทำให้กลายเป็นโรคพิษตะกั่วซึ่งจะส่งผลต่อสมองและระบบประสาท

 

สารหนู (arsenic) 
สารหนูอาจเกินในน้ำตามธรรมชาติเนื่องจากการไหลของน้ำผ่านชั้นดินชั้นหินที่มีสารหนู หรืออาจเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ สารหนูมีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต
มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง