ข่าวสารนํ้าบาดาล

ศาสตร์พระราชา "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

  • อัพเดทวันที่ 8 ส.ค. 62
  • อ่าน 135,831
  • เผยแพร่โดย skr Admin
Email

ศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
หลักการทรงงาน ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์นักพัฒนา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่งคง

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

ศาสตร์พระราชา

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

หลักการทรงงาน ตามแนวพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

กษัตริย์นักพัฒนา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่งคง

  ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพิเศษ

 

ศาสตร์พระราชา หลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ   “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

 

...ทรงใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”   นั้นคือก่อนจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านจารีตประเพณี และวัฒนธรรม เป็นต้น และระหว่างการดำเนินการนั้น จะต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขา   หรือทำงานให้เขานั้น “เข้าใจ” เราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดตามที่เรามุ่งหวังไว้ “เข้าถึง” ก็เช่นกัน เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว จะต้อง    ทำอย่างไรก็ตาม ให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย

...ดังนั้น จะเห็นว่า เป็นการสื่อสารทั้งทางไปและกลับ ถ้าสามารถทำทั้งสองประการ  ได้สำเร็จ เรื่อง “การพัฒนา” จะลงเอยได้อย่างดี เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ต่างฝ่ายอยากจะเข้าถึงกันแล้ว การพัฒนาจะเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้ และผู้รับ

...หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชน และการพัฒนาคนเป็นสำคัญ นับเป็นกระบวนการทำงานแบบบูรณาการ และกระบวนการคิดบนรากฐานของ “การเข้าใจมนุษย์” ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกตและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามหลักการ  “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่ใช้ทรงงานผ่านโครงการพระราชดำริ หลายๆโครงการ อาทิ เช่น โครงการฝนหลวง โครงการทฤษฎีใหม่ โครงการแกล้งดิน และโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ให้กลายมาเป็นบทเรียน

... เพื่อให้ได้เรียนรู้กระบวนการคิดบนรากฐานของการเข้าใจมนุษย์ การเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้การสร้างสรรค์นั้นตอบสนองความต้องการ การพัฒนาด้วยความรู้และภูมิปัญญาที่ไม่จำกัดอยู่แค่มิติใดมิติหนึ่ง ตลอดจนการทดลองและปรับปรุงจนได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน และสามารถประยุกต์ใช้ได้

            ...เมื่อน้ำ คือ ปัจจัยสำคัญในการขจัดความทุกข์ร้อนของราษฎร พระอัจฉริยภาพ และสายพระเนตรอันยาวไกลที่สะท้อนผ่านการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร ตามแนวพระราชดำริ  “จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ” ประกอบด้วยการบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำท่วม  น้ำเสีย น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ให้เหมาะสมตามลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่าง จึงสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวิถีของชุมชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน ทั้งยังประโยชน์สูงสุดแก่พสกนิกร ชาวไทย ให้อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี อย่างร่มเย็น        

...น้อมนำแนวทางพระราชดำริเรื่องน้ำ ตามศาสตร์พระราชา มาปรับใช้กับภารกิจด้านทรัพยากรน้ำบาดาล กับโครงการพระราชดำริได้อย่างไร

            ...กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่สนองงานตามพระราชดำริในพื้นที่   ขาดแคลนน้ำผิวดิน พื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำ จึงพัฒนาหาแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาสนองงานในรูปแบบ    น้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเพาะปลูก อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ ที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงของชาติ  โดยยึดหลักการทรงงานพระองค์ท่าน น้อมนำพระราชดำรัส

              

น้ำคือชีวิต

หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั้น ถ้ามีน้ำ   คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้   

...เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค เพื่อมาใช้ร่วมกับน้ำผิวดิน สำหรับทำการเกษตรกรรม ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำรวจและเจาะบ่อน้ำบาดาล ก่อสร้างระบบประปา  ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำสะอาด  ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์  

...ตั้งแต่ ปี 2547 - 2559  การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบประปา บาดาล ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มสะอาด (RO) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รวมพื้นที่ดำเนินการ 680 พื้นที่ 1,456 กิจกรรม ประชาชนได้รับประโยชน์ 120,000 คน ประชาชนมีน้ำใช้ประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก หรือการเกษตรในพื้นที่ 20,000 ไร่ รวมงบประมาณที่ใช้ ทั้งสิ้น 575 ล้านบาท  

...ปัจจุบันในปีพ.ศ. 2560 มีแผนการดำเนินงาน จำนวน 116 กิจกรรม 75 พื้นที่ 36 จังหวัด งบประมาณที่ตั้งไว้ 55 ล้านบาท โดยจะทำการเจาะบ่อน้ำบาดาล 54 บ่อ ระบบประปาบาดาล         30 ระบบ  ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มสะอาด (RO) 25 ระบบ และระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์   9 ระบบ ให้กับหลายหน่วยงาน ในพื้นที่โครงการหลวง , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง , ศูนย์ศิลปาชีพฟาร์มตัวอย่าง , โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช , โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน , โครงการคืนช้างสู่ป่าธรรมชาติ  และสถานที่ตามที่ราษฎรขอพระราชทาน    

...ในอนาคต กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีแผนงานที่จะดำเนินการเพื่อสนองงานตามโครงการพระราชดำริ ในระยะ 20 ปี จำนวน 1,000 พื้นที่ โดยจะใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท      

... กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังมีภารกิจที่สำคัญ คือการจัดหาน้ำอุปโภค บริโภค  ให้เพียงพอทุกหมู่บ้าน คือการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน เพิ่มให้กับระบบประปาบาดาลที่ อบต. เป็นผู้ดูแลโดยมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคง ด้านน้ำกินน้ำใช้ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ หาน้ำยาก ศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ

...กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสำรวจแหล่งน้ำบาดาลศึกษาวิจัยทดลองวิธีการพัฒนาน้ำบาดาลให้สามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้เป็นปริมาณมาก

พัฒนาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล ให้เป็นน้ำดื่มสะอาด ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก    ไว้บริการประชาชน แบบรถโมบายผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ สามารถเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ขาดแคลนหรือประสพปัญหา ไปผลิตน้ำดื่มให้ประชาชนในกรณีพิเศษ หรือช่วงวิกฤตได้

...น้ำเพื่อการเกษตร น้ำบาดาลถือว่าเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญยิ่ง สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หรือในเขตชลประทานแต่บางครั้งเกิดสภาวะแห้งแล้งมาก ต้องการใช้น้ำบาดาลมาเป็นน้ำเสริม โดยการใช้ร่วมกับน้ำผิวดินในบางฤดูกาล

...กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร อยู่ปีละ 2,000 แห่ง เนื่องจากเกษตรกรขาดแคลนน้ำเพาะปลูกพืช ในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง น้ำบาดาลจึงเป็นแหล่งน้ำ  ยามยากเพื่อเสริมน้ำผิวดิน ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้พืชที่เพาะปลูกไม่ขาดน้ำ แห้งเหี่ยวตาย และน้ำบาดาลยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ด้วย

...การดำเนินโครงการนี้ ที่สำคัญคือจะต้องให้เกษตรกรรวมตัวกัน เป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ และมีส่วนรวมในการสูบน้ำ และค่าใช้น้ำที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าซ่อมบำรุง นี่คือการพึ่งพาตัวเองด้านน้ำ ของเกษตรกร โดยมิใช่พึ่งแต่น้ำฝน หรือน้ำชลประทาน อย่างเดียว

...ตามแนวทางพระราชดำริ ที่ให้จัดการป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคาม และเพื่อเป็นการ สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่ 9  สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดังคำว่า “น้ำคือชีวิต” ตามศาสตร์พระราชา  กษัตริย์นักพัฒนา สืบไป