คำถามที่พบบ่อย

1. ในการถ่ายโอนภารกิจจะดำเนินการพร้อมกันทุก เทศบาล/อบต. หรือไม่?

ตอบ : ในปี 2554 จะถ่ายโอนเฉพาะ เทศบาล/อบต. พื้นที่ 3 จังหวัดนำร่อง คือ นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยถ่ายโอนในปีถัดไป โดยคาดว่าจะสามารถ ถ่ายโอนได้ทุกจังหวัดภายในปี 2557

2. เทศบาล/อบต. สำรวจข้อมูลบ่อน้ำบาดาลแล้ว พบว่า มีบ่อน้ำบาดาล จำนวน 30 บ่อ แต่ข้อมูลบ่อน้ำบาดาลที่ ทบ. ส่งให้ตรวจสอบ มีจำนวน 15 บ่อ บ่อที่เหลือจะให้ดำเนินการอย่างไร?

ตอบ : การสำรวจบ่อน้ำบาดาล (บ่อสาธารณะ) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบข้อมูลบ่อน้ำบาดาล ที่มีอยู่ทั้งสิ้นมีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำข้อมูลบ่อน้ำบาดาลที่สำรวจได้จริงไปปรับปรุง ให้เป็นข้อมูลเดียวกันที่มีความสมบูรณ์ถูกต้อง ตรงกัน ดังนั้นจึงขอให้ เทศบาล/อบต. สำรวจข้อมูลบ่อน้ำบาดาลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทั้งหมด โดยให้บันทึกรายละเอียดในแบบสำรวจ ด้วยว่าสภาพบ่อเป็นอย่างไร ใช้ได้ หรือไม่ได้

3. การสูบน้ำบาดาลทำให้เกิดหลุมยุบจริงหรือไม่?

ตอบ : การสูบน้ำบาดาลทำให้เกิดหลุมยุบจริงหรือไม่นั้น ต้องดูข้อเท็จจริงจากสภาพพื้นที่ เช่น การเกิดหลุมยุบบริเวณ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมานั้น เกิดจากการทำเหมืองเกลือ โดยเจาะบ่อลงไปในแหล่งเกลือหินและอัดน้ำจืดลงไปละลายเกลือหินแล้วสูบขึ้นมานำเข้า กระบวนการผลิตเกลือ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นกระบวนการทำเหมือง เรียกว่า เหมืองละลาย เมื่ออัดน้ำจำนวนมากลงไปละลายเกลือทำให้เกิดเป็นโพรงเมื่อส่วนบนของ โพรงเกลือถูกน้ำละลายจะทำให้ความหนาของเกลือบางลงจนถึงระดับหนึ่งที่ไม่สามารถ รับน้ำหนักบนผิวดินได้ก็จะยุบตัวลงมา ในลักษณะหลุมกลมๆ หรือในกรณีที่เกิดหลุมยุบ ในที่อื่นๆ เช่น ในหินปูนซึ่งอยู่ใต้พื้นดินเมื่อถูกน้ำซึ่งมีคุณสมบัติในการละลายได้ดี ละลาย นานเข้าก็จะเกิดเป็นโพรง เป็นถ้ำใต้พื้นดิน ด้านบนของถ้ำจะถูกละลายบางลง เมื่อได้รับ แรงกดทับ หรือเกิดการเคลื่อนตัวของโลก ก็จะทำให้พื้นที่ด้านบนของถ้ำพังยุบลงมา ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีการสูบน้ำบาดาล

4. บ่อน้ำบาดาลที่ เทศบาล/อบต. มี 30 บ่อ บ่อน้ำบาดาลที่ ทบ. ส่งให้ตรวจสอบ มี 15 บ่อ บ่อน้ำบาดาลที่เหลือจะให้ เทศบาล/อบต. ดำเนินการอย่างไร?

ตอบ : ปรับปรุงฐานข้อมูลบ่อน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและบ่อน้ำบาดาลของ เทศบาล/อบต. ให้ข้อมูลตรงกันก่อนและดำเนินการถ่ายโอนต่อไป

5. ประวัติบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ใช่หรือไม่?

ตอบ : ประวัติบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่สามารถเข้าดูรายละเอียดและดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ( www.dgr.go.th )

6. บ่อน้ำชนบทจำเป็นต้องมีมาตรวัดปริมาณน้ำทุกบ่อหรือไม่ เช่น บ่อน้ำใช้อุปโภคบริโภค หรือใช้ในเกษตรกรรม กรณีที่การประปาส่วนภูมิภาคเข้าไม่ถึง?

ตอบ : ผู้รับใบอนุญาตน้ำบาดาล ต้องตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำทุกบ่อ ยกเว้นบ่อน้ำบาดาลขนาด ไม่เกิน 100 มม. ที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบ่อน้ำบาดาลของหมู่บ้าน จัดสรรตามมติ คณะกรรมการน้ำบาดาล ครั้งที่ 9/2538 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2538

7. บ่อน้ำบาดาล (บางบ่อ) ไม่ทราบว่าเป็นของหน่วยงานใด จะต้องให้มีผู้มาขออนุญาตหรือไม่?

ตอบ : ให้สอบถามผู้ที่อาศัยในบริเวณนั้น อาจจะมีผู้ทราบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้เจาะน้ำบาดาล เจาะเมื่อใด เจาะลึกเท่าใด เป็นต้น หากไม่มีผู้ใดทราบ ให้หมายเหตุใบแบบสำรวจไว้ด้วย และถ้ามีหลักฐานว่าบ่อน้ำบาดาลนั้นได้มีการโอนให้ท้องถิ่นแล้ว จะต้องดำเนินการขอรับ ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลให้ถูกต้อง

8. ถ้าต้องการทราบรายชื่อช่างเจาะน้ำบาดาลที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถตรวจสอบได้ที่ใดและขอข้อมูลได้หรือไม่?

ตอบ : ช่างเจาะน้ำบาดาลที่ผ่านการฝึกอบรม มีรายชื่อประกาศไว้ที่ สทบ.เขต ทุกเขต สำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทุกจังหวัด และประกาศในเว็ปไซต์ของ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล หากจะขอข้อมูลรายชื่อ ขอได้ที่สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

9. สมมติว่าผลวิเคราะห์น้ำบาดาลไม่ผ่านการวิเคราะห์สามารถขอรับใบอนุญาตได้หรือไม่?

ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการขอใช้น้ำเพื่ออะไร หากเป็นอุปโภคบริโภคก็ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ แต่หากเป็นการใช้ที่ที่ไม่เกี่ยวกับการดื่มกินก็อาจอนุโลมให้ใช้ได้ โดยหมายเหตุว่าน้ำบาดาล จากบ่อนี้มีลักษณะทางกายภาพอย่างไรเหมาะสำหรับนำไปใช้ในลักษณะใด

จำนวนทั้งหมด 9 รายการ