ข่าวสารนํ้าบาดาล

การเตรียมความพร้อมบ่อน้ำบาดาล เพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้ง

  • อัพเดทวันที่ 28 ก.พ. 65
  • อ่าน 3,598
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email

     เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง แหล่งน้ำที่จะช่วยบรรเทามิให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรงคือแหล่งน้ำบาดาล  บ่อน้ำบาดาลที่มีอยู่ควรจะมีการเตรียมความพร้อม คือ  1) ฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาลเดิมโดยการเป่าล้างบ่อและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ  และ 2) บ่อน้ำบาดาลที่ใช้งานควรตรวจสอบปริมาณน้ำบาดาลเพื่อประเมินความเพียงพอต่อการใช้งาน

การดูแลบำรุงรักษารอบบริเวณบ่อน้ำบาดาล

          -  ตัดหญ้าและวัชพืชรอบบริเวณบ่อน้ำบาดาล  เก็บกวาดขยะและสิ่งปฏิกูล เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้รอบบริเวณบ่อน้ำบาดาล

          - ปรับพื้นที่หรือถมดิน ซ่อมแซมชานบ่อ ซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด

          -  ตรวจสอบรอยน้ำรั่วใต้พื้นดิน การรั่วของท่อส่งน้ำ อุปกรณ์ เช่น ข้องอ ข้อต่อ ประตูน้ำ

          -  ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำ พร้อมทั้งซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี

1.  ฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาลเดิมโดยการเป่าล้างบ่อและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 

     บ่อน้ำบาดาลที่เลิกใช้งานชั่วคราว หรือหมดความจำเป็นเนื่องจากมีแหล่งน้ำอื่นทดแทน เช่นมีระบบประปาหมู่บ้านจากแหล่งน้ำผิวดิน หรือบ่อน้ำบาดาลบ่อใหม่ จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์

     1.1 สืบค้นข้อมูลสาเหตุของการเลิกใช้งาน ประวัติการก่อสร้างบ่อน้ำบาดาล ข้อมูลบ่อน้ำ พร้อมทั้งข้อมูลเครื่องสูบน้ำบาดาล(ถ้ามี)

     1.2 ตรวจวัดความลึกบ่อด้วยเครื่องวัดความลึก(หรือดัดแปลงเครื่องมือโดยการใช้เชือกผูกวัสดุที่หนักพอประมาณวัดดิ่งความลึกบ่อ)

     1.3 รื้อถอนเครื่องสูบน้ำพร้อมท่อสูบน้ำออกจากบ่อและทำการวัดความลึกบ่อ(กรณีไม่สามารถทำเองได้ ต้องดำเนินการจ้างรื้อถอนพร้อมจ้างเป่าล้างบ่อ)

     1.4 จ้างฟื้นฟูบ่อน้ำบาดาลโดยการเป่าล้างบ่อ  พร้อมทั้งกำหนดให้ทดสอบปริมาณน้ำบาดาล

     1.5 เมื่อทราบปริมาณน้ำบาดาล นำมากำหนดขนาดเครื่องสูบน้ำบาดาล(ขอคำแนะนำขนาดเครื่องสูบน้ำบาดาลจากช่างที่เป่าล้างบ่อน้ำบาดาล)

          ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาลประจำบ่อน้ำบาดาล แล้วนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำเป็นจุดจ่ายน้ำช่วยผู้ประสบภัยแล้ง  เสริมปริมาณน้ำให้กับระบบประปาเดิม หรือส่งน้ำบาดาลไปยังจุดบริการน้ำระยะไกล ด้วยท่อส่งน้ำพีวีซีขนาดไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว ในแนวราบได้ประมาณ 1,000 เมตร

2. ตรวจสอบปริมาณน้ำบาดาลเพื่อประเมินความเพียงพอต่อการใช้งาน

2.1   การวัดปริมาณน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลโดยการตวง

     อุปกรณ์และเครื่องมือ  1. ปี๊ปขนาด 20 ลิตร หรือภาชนะตวงน้ำที่รู้ความจุ

                                  2. นาฬิกาจับเวลา(วินาที) เช่น จากนาฬิกา โทรศัพท์มือ

    ขั้นตอนการวัดปริมาณน้ำบาดาลโดยการตวง

     1. สูบน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยให้น้ำบาดาลไหลออกจากท่อน้ำทิ้ง พร้อมที่จะใช้ปี๊ปตวงน้ำจากปลายท่อ

     2. ใช้ปี๊ปตวงน้ำจากปลายท่อน้ำและในขณะเดียวกันจับเวลาว่าน้ำเต็มปี๊ปใช้เวลากี่วินาที

     3. นำข้อมูลไปคำนวณโดยการเทียบบัญญัติไตรยางศ์

         ตัวอย่าง ปี๊ปขนาด 20 ลิตร ตวงวัดปริมาณน้ำจนน้ำเต็มปี๊ป  ใช้เวลา 10 วินาที

การคำนวณ    ใช้เวลาตวง  10 วินาที  ได้ปริมาณน้ำบาดาล  20 ลิตร

                  ถ้าใช้เวลา 3,600 วินาที( 1 ชั่วโมง)   ได้ปริมาณน้ำบาดาล =  (20 x 3600)/10 ลิตร

                             ได้ (Q) 7,200 ลิตร/ชั่วโมง  หรือ  7.2 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

2.2 การประเมินความเพียงพอของปริมาณน้ำกับผู้ใช้น้ำบาดาล

     เป็นการเปรียบเทียบระหว่างปริมาณน้ำบาดาลที่สูบจากบ่อน้ำบาดาล (ลิตรต่อชั่วโมง)

     กับจำนวนผู้ใช้น้ำบาดาล (คน)    โดยใช้สูตรสำเร็จ

                     P (จำนวนคนที่ใช้น้ำได้) = 0.11 x Q    …  คน

                     0.11 คือ ค่าคงที่ของตัวแปรต่างๆในการคำนวณ       

                     Q คือ ปริมาณน้ำบาดาล … ลิตร/ชั่วโมง

    จากการตวงวัดปริมาณน้ำบาดาลได้   (Q) 7,200 ลิตร/ชั่วโมง

    แทนค่าในสูตร       P  =  0.11 x 7200     =  792 คน   =  158.4 หลังคาเรือน (792/5)

                           หรือได้ ประมาณ 160 หลังคาเรือน 

                           ใช้ 5 หาร 792 ซึ่งถือว่า 1 หลังคาเรือนมีผู้พักอาศัยประมาณ 5 คน

การวิเคราะห์ข้อมูล (A) กรณีมีน้ำบาดาลเพียงพอ

     1. ถ้าจำนวนผู้ใช้น้ำบาดาลน้อยกว่าจากการคำนวณ  ถือว่ามีแหล่งน้ำบาดาลเพียงพอ

     2. ถ้าในทางปฏิบัติ(ข้อเท็จจริง)ไม่เพียงพอ  น่าจะเกิดจาก

          2.1 ตั้งระดับสูบน้ำเข้าหอถังต่ำ(ไม่เต็มถังที่แท้จริง) ทำให้แรงดันในระบบท่อเมนต่ำ และตั้งให้สูบใหม่ต่ำ(ระยะสูบใหม่มากเกินไป) ทำให้น้ำสำรองการใช้งานน้อย

          2.2 มีการรั่วไหลจากระบบการส่งน้ำ เช่น จากปากบ่อไปยังหอถังหรือระบบกรองหรือถังน้ำใสจากถังน้ำใสไปยังหอถัง  จากหอถังไปยังถังกรอง หรือระบบกรองอุดตัน

          2.3 มีการรั่วไหลในระบบท่อเมน หรือท่อเมนชำรุด ท่อเมนอุดตัน

          2.4 มีการใช้น้ำจากระบบประปาผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปใช้ในการเกษตร

การวิเคราะห์ข้อมูล (B) กรณีมีน้ำบาดาลน้อย

     1. ปริมาณน้ำบาดาลไม่เพียงพอตั้งแต่ระบบประปาก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่  และมีปัญหาการขาดแคลนมากยิ่งขึ้นในฤดูแล้ง ซึ่งเกิดจากศักยภาพน้ำบาดาลน้อย (หาแหล่งน้ำเพิ่มเติมหรือเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำบาดาลให้มีขนาดแรงม้ามากขึ้นถ้าทราบว่าบ่อน้ำบาดาลมีปริมาณน้ำมากพอ)
     ​2. ปริมาณน้ำบาดาลน้อยลงกว่าปกติในช่วงฤดูแล้ง น่าจะเกิดจาก

          2.1 ระดับน้ำบาดาลลดลงมาก  -  เพิ่มท่อสูบ(ท่อดูด)ให้ลึกมากขึ้น

          2.2 ท่อสูบน้ำบาดาลรั่ว(อยู่ในบ่อน้ำบาดาลมองไม่เห็น) – ถอนเครื่องสูบเปลี่ยนท่อสูบน้ำใหม่

          2.3 ท่อสูบน้ำและใบพัดเครื่องสูบน้ำอุดตัน – เปลี่ยนท่อสูบและเครื่องสูบน้ำ(หรือล้างตะกรัน)

          2.4 ปริมาณน้ำบาดาลน้อยลงจากตะกอนทรายก้นบ่อหรือท่อกรองน้ำบาดาลอุดตัน
                – จ้างเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลพร้อมทั้งตรวจ ซ่อม เปลี่ยนท่อสูบ เครื่องสูบ