ข่าวสารนํ้าบาดาล

เจาะบ่อน้ำบาดาลหลายๆ บ่อ ในพื้นที่เดียวกันได้หรือไม่ ?

  • อัพเดทวันที่ 15 มี.ค. 66
  • อ่าน 5,678
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
เจาะบ่อน้ำบาดาลหลายๆ บ่อ ในพื้นที่เดียวกันได้หรือไม่ ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ มิสเตอร์บาดาล ขอเล่าเปิดประเด็นดังนี้ เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ด้วยเหตุจากภัยแล้ง หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลแม่น้ำลำคลองหรือระบบชลประทาน การเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะบ่อน้ำบาดาลแค่เพียงบ่อเดียว ก็มีปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคหรือทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ
 
 
แต่จะทำอย่างไรเมื่อปริมาณน้ำจากบ่อน้ำบาดาลแค่บ่อเดียว มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ?
ปกติแล้วเมื่อสูบน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ก็จะมีน้ำจากชั้นน้ำบาดาลไหลเข้ามาทดแทนน้ำบาดาลที่ถูกสูบออกจากบ่ออยู่ตลอด ทำให้มีน้ำใช้กันทั้งปี แต่ถ้าวันหนึ่งพบว่า บ่อน้ำบาดาลที่สูบใช้อยู่มีระดับน้ำลดลงและให้ปริมาณน้ำลดลงจนไม่พอใช้ แสดงว่าน้ำจากชั้นน้ำบาดาลไหลเข้ามาทดแทนในบ่อน้ำบาดาลไม่ทัน วิธีการแก้ปัญหา คือควรลดระยะเวลาการสูบน้ำให้น้อยลง ทิ้งระยะหยุดสูบให้นานขึ้นเพื่อให้มีน้ำบาดาลจากชั้นน้ำบาดาลไหลเข้ามาเพิ่มในบ่อ
 
 
หากต้องการเจาะบ่อน้ำบาดาลหลายๆ บ่อในพื้นที่เดียวกัน ทำได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร ?
การเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มตั้งแต่สองบ่อขึ้นไปในพื้นที่เดียวกันนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องเลือกจุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ให้ห่างจากบ่อเดิมมากที่สุด และควรเจาะบ่อที่ระดับความลึกต่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งน้ำจากชั้นน้ำบาดาลเดียวกัน ในกรณีมีพื้นที่จำกัด ต้องพิจารณาว่าชั้นน้ำบาดาลในพื้นที่นั้น มีปริมาณน้ำมากน้อยเพียงใด หากบ่อแรกที่เจาะไว้ มีปริมาณน้ำมากกว่า 10 ลบ.ม./ชม. แสดงว่าชั้นน้ำบาดาลมีปริมาณน้ำมาก สามารถเจาะบ่อใหม่ใกล้ๆ กันได้ แต่ถ้ามีปริมาณน้ำน้อยกว่า10 ลบ.ม./ชม. ควรเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ให้อยู่ห่างกัน เพราะเมื่อสูบน้ำจากบ่อขึ้นมาใช้ น้ำบาดาลที่อยู่ในชั้นน้ำก็จะไหลเติมเข้ามาในบ่อ ทำให้ระดับน้ำบาดาลบริเวณรอบ ๆ บ่อลดระดับลงเป็นลักษณะคล้ายกรวยหงาย ยิ่งถ้ามีบ่อน้ำบาดาลหลายๆ บ่อ และอยู่ใกล้กัน เมื่อสูบน้ำพร้อมกันจะทำให้เกิดการดึงน้ำจากบริเวณรอบๆ บ่อน้ำบาดาล กรวยน้ำลดยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดการแย่งน้ำจากชั้นน้ำบาดาลเดียวกันเข้ามาเติมน้ำในบ่อและทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลงกว่าปกติ
 
 
การเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เดียวกัน ตั้งแต่สองบ่อขึ้นไปและมีความลึกของบ่อน้ำบาดาลเท่ากันโดยใช้ชั้นน้ำบาดาลชั้นเดียวกัน หรือมีความลึกของบ่อน้ำบาดาลแตกต่างกันโดยใช้ชั้นน้ำบาดาลคนละชั้น ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวอาจกำหนดระยะห่างระหว่างบ่อน้ำบาดาลที่แตกต่างกัน ซึ่งในการกำหนดระยะห่างระหว่างบ่อน้ำบาดาลนั้น เป็นการกำหนดมาตรการทางด้านวิชาการ ทั้งนี้ หากพิจารณามาตรการทางด้านกฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาลมิได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการเจาะน้ำบาดาลหลายบ่อในพื้นที่เดียวกันต้องมีจำนวนบ่อน้ำบาดาลหรือระยะห่างระหว่างบ่อน้ำบาดาลเท่าไร แต่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการเจาะน้ำบาดาลและการเลิกเจาะน้ำบาดาล พ.ศ. 2551 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการเจาะน้ำบาดาลเกี่ยวกับสถานที่เจาะน้ำบาดาลไว้ ดังนี้
 
(1) สถานที่ที่จะเจาะน้ำบาดาล ต้องไม่เป็นที่ลุ่มซึ่งมีน้ำเสียหรือน้ำที่เป็นพิษกักขังหรือไหลผ่าน หรือไหลจากผิวดินซึมลงไปในบ่อหรือข้างบ่อได้
 
(2) ตำแหน่งหลุมเจาะต้องอยู่ห่างจากชายคาไม่น้อยกว่า 1 เมตร และอยู่ห่างจากส้วมซึมหรือถังเกรอะ หรือร่องระบายน้ำโสโครกไม่น้อยกว่า 30 เมตร
 
(3) ในกรณีที่จะทำการเจาะน้ำบาดาลในบริเวณที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามที่ระบุข้างต้น จะต้องจัดการป้องกันด้วยวิธีการใดๆ ที่ไม่ให้น้ำเสีย หรือน้ำที่เป็นพิษหรือน้ำโสโครกไหล หรือซึมลงบ่อน้ำบาดาลได้
 
(4) บริเวณที่เจาะน้ำบาดาลต้องมีที่ว่างเพียงพอสำหรับการช่อมบ่อน้ำบาดาล หรือซ่อมเครื่องสูบน้ำ
 
 
อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์บาดาลขอเสนอเป็นแนวทางในการเลือกตำแหน่งเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ในที่ดินแปลงเดียวกันว่า ควรเว้นระยะห่างกัน ดังนี้
- บ่อเดิมมีความลึกไม่เกิน 50 เมตร ควรเว้นระยะห่างบ่อที่สองอย่างน้อย 30 เมตร และ
- บ่อเดิมมีความลึกมากกว่า 100 เมตร ควรเว้นระยะห่างบ่อที่สองอย่างน้อย 100 เมตร
 
 
อ๊ะ…อ๊ะ ก่อนแยกย้าย ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า การเจาะบ่อน้ำบาดาลหลายบ่อในพื้นที่เดียวกัน ทำได้ครับ แต่ต้องตรวจดูพื้นที่และปริมาณน้ำบาดาลให้ดี ที่สำคัญคือเจ้าของบ่อน้ำบาดาลต้องติดต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่เพื่อขออนุญาตเจาะและใช้น้ำบาดาลให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยนะครับ
 
 
 
แหล่งข้อมูล :
- ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการเจาะน้ำบาดาลและการเลิกเจาะน้ำบาดาล พ.ศ. 2551
- สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
- สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง