ข่าวสารนํ้าบาดาล

“น้ำบาดาล” เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง พื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ

  • อัพเดทวันที่ 27 ก.พ. 63
  • อ่าน 2,004
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 33 ภาพ

            วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายประกอบ อยู่คง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการวิเคราะห์ภาคสนาม โครงการสำรวจพื้นที่ศักยภาพการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน พื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ณ บ้านหนองห้าง ตำบลม่วงลาย อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
 

            ดร.อรนุช  หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ลุ่มน้ำก่ำ เป็นลุ่มน้ำย่อยของกลุ่มน้ำโขง มีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ อันได้แก่ หนองหารและลำน้ำก่ำ โดยมีจุดเริ่มต้นจากหนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ไหลไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงแม่น้ำโขง ที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รวมความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ 3,440 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่บริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม  และมีราษฎรตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณ   ตามเนินตลอดสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม วิถีชีวิตของราษฎรต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงฤดูฝน ยามที่น้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูง พื้นที่เพาะปลูกก็จะถูกน้ำท่วม แต่ครั้นในช่วงฤดูแล้งเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ น้ำในลำน้ำก่ำก็จะไหลลงแม่น้ำโขงเกือบหมด ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้จัดทำโครงการ “สำรวจพื้นที่ศักยภาพการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน พื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ” โดยศึกษาด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา และด้านสังคม  สำหรับกำหนดพื้นที่ศักยภาพและกลไกการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้ต่อไป
 

             สำหรับการดำเนินงาน ได้นำนวัตกรรมการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับตื้น โดยใช้ชุดเครื่องมือตรวจสอบการปนเปื้อนสารอันตรายแบบทันทีด้วยเทคนิค Membrane Interface Probe (MIP) เป็นการนำเทคโนโลยีการเจาะทดสอบดินแบบใหม่ เพื่อประเมินค่าความเร็วของการเคลื่อนที่น้ำใต้ดินเบื้องต้น ตัวอย่างที่ได้จากการเจาะทดสอบจะเก็บแบบแท่ง ซึ่งทำให้ทราบลักษณะการตกสะสมตัวของตะกอนและความผุของชั้นหินแข็งในพื้นที่ศึกษา โดยสามารถใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพื้นที่ ที่เหมาะสมในการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับตื้น พื้นที่วัดจำปาศรี บ้านจำปาศรี ตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้งโครงการ ก็จะสามารถเพิ่มความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำและใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งให้พื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป