ข่าวสารนํ้าบาดาล

1 ปี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับการแก้ปัญหาให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล

  • อัพเดทวันที่ 9 ต.ค. 63
  • อ่าน 872
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

                   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนี้

                    1. การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำนวน 919 พื้นที่ 70 จังหวัด โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 4 5 โดยออกหนังสืออนุญาตแล้ว จำนวน 252 พื้นที่ 66 จังหวัด เนื้อที่ 687,000 ไร่ จัดผู้เข้าทำประโยชน์ 52,042 ราย และสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ จำนวน 132 พื้นที่ รวมทั้งคาดการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษที่อาจจะเกิดขึ้น

                    2. การให้ความช่วยเหลือเกษตรและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินการ ดังนี้

                       2.1 โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 17 แห่ง

                       2.2 โครงการก่อสร้างจุดจ่ายน้ำถาวรริมถนนสายหลักทั่วประเทศ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 24 แห่ง ทั่วประเทศ

                       2.3 โครงการพัฒนาและส่งน้ำบาดาลระยะไกล ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 แห่ง ที่ตำบลสนามไชย อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดร้อยเอ็ด

                       2.4 โครงการพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ริมแม่น้ำแบบ Riverbank ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดราชบุรี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรมีนโยบายให้ใช้พลังงานสะอาด (Solar Technology) ระบบโซลาเซลล์ เพื่อลดต้นทุนและประหยัดพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร                 

                   3. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศอนาคต ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่างแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างกลไกในการแบ่งปันผลประโยชน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญหาท้องถิ่น โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้เสนอร่างแผนดังกล่าวต่อ สศช. แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สศช.

                   4. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินการ ดังนี้

                       4.1 ประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการและแจกจ่ายน้ำเพื่อการบริโภค

                       4.2 ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่เป้าหมาย 25 จังหวัด 146 อำเภอ 784 ตำบล 4 เทศบาล 6,846 หมู่บ้าน [จังหวัดที่ประกาศ เขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยมีผลการดำเนินงานระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563 สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร 104.91 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 175 จากเป้าหมาย 60 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 215,485 ไร่ ใน 49 จังหวัด สนับสนุนน้ำสะอาด 32.05 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 11.40 จากเป้าหมาย 22.76 ล้านลิตร ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 444,807 ครัวเรือน ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 2,723 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 96 จากเป้าหมาย 2,831 บ่อ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำ 211.94 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3 แสนครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 7 หมื่นไร่ เติมน้ำใต้ดิน 530 แห่ง

                       4.3  เปิด “จุดจ่ายน้ำบาดาล บริการฟรี” กว่า 22 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้งให้แก่ประชาชน

                       4.4 สำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

                       4.5 การจัดหาแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำนอกเขตชลประทาน กว่า 600 แห่ง ความจุเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 242 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 155,399 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 499,495 ไร่

                       4.6 การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำท่วม โดยเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำ (โขง ชี มูล ปากน้ำชี-มูล) เพื่อรองรับน้ำหลาก และปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 57 แห่ง

ที่มา : สำนักงานโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

แท็กที่เกี่ยวข้อง