ข่าวสารนํ้าบาดาล

“เลขาฯ สทนช.” ตรวจติดตามโครงการเติมน้ำใต้ดินที่เชียงใหม่

  • อัพเดทวันที่ 6 พ.ย. 63
  • อ่าน 1,411
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

     วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ที่เทศบาลเมืองแกนพัฒนา ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เดินทางไปตรวจติดตามการดำเนินงาน..”โครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ” ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน แก่เจ้าหน้าที่

     ในการนี้ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มอบหมายให้ นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมให้การต้อนรับ และนำเสนอผลการดำเนินงาน ร่วมกับ นายบรรจง พรมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล  นายมหิปพงษ์ วรกุล ผู้อำนวยการส่วนแผน สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1(ลำปาง)

     ทั้งนี้ น้ำเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่พื้นฐานของประเทศ การบริหารจัดการน้ำโดยการนำน้ำผิวดินส่วนเกินไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดิน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับการยอมรับ และมีการดำเนินการมาแล้วเป็นเวลายาวนานในนานาประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ในช่วงฤดูแล้ง และเป็นการบรรเทาภาวะน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว  จึงได้มอบนโยบายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดินตำบลละ 1 แห่ง เพื่อเป็นการเผยแพร่และขยายผลแนวทางการเติมน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไปสู่หน่วยงานระดับท้องถิ่น และประชาชน เพื่อนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมขัง ตลอดจนเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศที่พึ่งพาระบบน้ำใต้ดิน

     อนึ่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับจัดสรรงบประมาณ งบกลาง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 62 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อเติมน้ำ ในพื้นที่เหมาะสม จำนวน 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ 100 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 290 แห่ง ภาคกลาง 325 แห่ง ภาคตะวันออก 100 แห่ง ภาคตะวันตก 85 แห่ง และภาคใต้ 100 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการรวม 120 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน กุมภาพันธ์ 2564

     สำหรับการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น จะต้องมีการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนด และก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อเติมน้ำ ตามแบบมาตรฐานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

     ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ ประชาชนและชุมชนสามารถนำความรู้และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินไปต่อยอดขยายผล เพื่อให้ส่งผลต่อการเพิ่มเติมปริมาณสำรองของแหล่งน้ำ นำไปสู่การเพิ่มผลผลิต ยกระดับรายได้ของเกษตรกรและประชาชน ลดปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง ตลอดจนเกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่พึ่งพาน้ำบาดาล
 

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  ส่งเสริมการใช้น้ำบาดาลอย่างรู้คุณค่า พัฒนาน้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์