ข่าวสารนํ้าบาดาล

น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรพลังงานโซลาเซลล์ ความสำเร็จใหม่สู่เกษตรกรไทยที่ยั่งยืน

  • อัพเดทวันที่ 1 พ.ค. 61
  • อ่าน 7,096
  • เผยแพร่โดย DGR Admin กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
Email
อัลบั้มภาพ 41 ภาพ

     กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมเผยอีกหนึ่งความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลภาคการผลิต (เกษตรกรรม) ตอกย้ำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านความยั่งยืนในการพัฒนาและใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง รูปแบบที่ 3 พลังงานแสงอาทิตย์ ณ บ้านแหลมพระธาตุ หมู่ที่ 9 ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

     ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ประเทศไทยมีทิศทางในการพัฒนาด้าน “ความยั่งยืน” โดยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลักไปพร้อมกันด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้รับนโยบายดังกล่าวมากำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินแบบมีส่วนร่วม เป็นธรรม และเพียงพอ โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลภาคการผลิต (เกษตรกรรม) ในพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านอีกด้วย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง รูปแบบที่ 3 พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อตอบสนองแนวทางการพัฒนาของประเทศอย่างยั่งยืน โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 กำแพงเพชร ได้ส่งมอบโครงการดังกล่าวให้แก่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่บ้านแหลมพระธาตุ หมู่ที่ 9 ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเคยประสบปัญหาภัยแล้งเนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและขาดแหล่งน้ำในการทำเกษตร โดยส่วนใหญ่เกษตรกรในพื้นที่สามารถทำการปลูกข้าวได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเนื่องจากต้องรอน้ำในฤดูฝนเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 กำแพงเพชร จึงได้เร่งเสนอของบประมาณในการจัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มเกษตรกร 

     พื้นที่บ้านแหลมพระธาตุ หมู่ที่ 9 ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 150 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาลกว่า 14 ราย ฤดูกาลเกษตรกรรมที่ผ่านมาหลังจากมีแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสูบน้ำบาดาลและกระจายน้ำทั่วแปลงเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถสร้างรายได้จากการเพาะปลูกแตงโมหนึ่งรอบการผลิตในพื้นที่ 30 – 40 ไร่ เป็นเงินกว่า 700,000 บาท ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เริ่มมีการขยายเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อาทิ ฟักทอง กล้วย มะม่วง และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูกาล  ทั้งนี้นายสำเริง ประทุมราษ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครป่าหมาก หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาลเปิดเผยว่า “เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซากปีหนึ่งสามารถปลูกข้าวนาปีได้แค่ครั้งเดียวหลังจากนั้นก็ไม่มีน้ำปลูกอะไรได้อีกเลย แต่พอได้น้ำบาดาลจากโครงการพวกเราก็มีน้ำไว้ปลูกพืชอย่างอื่นได้ ทั้งแตงโม ฟักทอง มะม่วง ปลูกสลับกับกล้วย เพื่อให้ดินชุ่มน้ำอาศัยกันและกัน รายได้ก็มาจากเก็บแตงโมขายพอหมดแตงโมเราก็ปลูกฟักทองต่อได้เลย เพราะเรามีน้ำใช้ตลอดแล้ว อีกอย่างสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เราก็ไม่ต้องเสียค่าไฟ เมื่อก่อนมีเครื่องสูบใช้ไฟฟ้าก็ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณหลักหมื่น ตอนนี้ก็ดีลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ เงินขายผลผลิตก็เหลือเยอะ ดูได้จากเกษตรกรซื้อเครื่องทำนาได้เครื่องใหม่เลย” 

     ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานดังกล่าวมีนายสมพงษ์ สิทธิโชคสกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน พร้อมด้วยนายพยุงศักดิ์ ท่าไม้สุข ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บรรยายแนวทางในการดำเนินงานของโครงการฯ และนายประจวบ ลอยสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 กำแพงเพชร บรรยายรายละเอียดในการจัดสร้างโครงการฯ ณ บ้านแหลมพระธาตุ หมู่ที่ 9 ตำบลนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

 

ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
 ***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008