ข่าวสารนํ้าบาดาล

อธิบดีน้ำบาดาล สั่งชี้แจงด่วน ข้อเท็จจริงจุดบริการน้ำแร่ที่ประจวบคีรีขันธ์

  • อัพเดทวันที่ 14 มิ.ย. 64
  • อ่าน 2,867
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

     นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สั่งผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี รุดตรวจสอบจุดบริการน้ำแร่บริเวณตลาดร้างทุ่งกระต่ายขัง ด้านข้างสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่าวน้อย ริมถนนเพชรเกษมขาล่องใต้ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ระหว่างส่งมอบโครงการให้ อบต.อ่าวน้อย หากเปิดให้บริการเมื่อใด ประชาชนจะได้น้ำดื่มสะอาดมีแร่ธาตุ

     วันนี้ (14 มิถุนายน 2564) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมาย ให้นายศุภเวท ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี รุดตรวจสอบจุดบริการน้ำแร่ บริเวณตลาดร้างทุ่งกระต่ายขัง ข้างสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่าวน้อย ริมถนนเพชรเกษม ขาล่องใต้ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีสื่อมวลชนบางสำนักอ้างว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าการก่อสร้างจุดบริการน้ำแร่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลบริเวณดังกล่าว ใช้งบประมาณ 4.7 ล้านบาท เสร็จนาน นับเดือนแต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ไม่เปิดบริการ ให้ช่วยตรวจสอบเกรงว่าภาครัฐจะใช้งบประมาณสร้างแล้วทิ้งเหมือนตลาดร้างทุ่งกระต่ายขัง ขณะที่ประชาชนข้องใจว่าการใช้ชื่อจุดบริการน้ำแร่เหมาะสมหรือไม่ เพราะมีการเจาะน้ำบาดาลสูบเข้าระบบกรองธรรมดา และจุดดังกล่าวห่างจากถนนเพชรเกษมกว่า 100 เมตร ไม่มีบ้านเรือนของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง 

     นายศุภเวท ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ได้ทำการตรวจรับพัสดุ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ซึ่งในส่วนที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลรับผิดชอบดำเนินการครบถ้วนแล้ว คงเหลือการติดต่อขอมิเตอร์ไฟฟ้าที่อบต.อ่าวน้อยกำลังดำเนินการ และอยู่ในระหว่างส่งมอบโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้แก่องค์กรบริการส่วนตำบลอ่าวน้อยรับผิดชอบไปดำเนินการบริหารจัดการต่อไป ส่วนที่ประชาชนข้องใจว่าการใช้ชื่อจุดบริการน้ำแร่เหมาะสมหรือไม่ ขออธิบายความหมายของ “น้ำแร่” เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า น้ำแร่ หมายถึง น้ำที่มีแร่ธาตุ โดยปกติน้ำบาดาลถือเป็นน้ำแร่อยู่แล้ว โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอธิบายไว้ว่า น้ำแร่ธรรมชาติ คือ น้ำที่ถูกกักไว้ในช่องว่างระหว่างชั้นหิน ชั้นดิน กรวด ทราย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่เหลือจากการที่ดินดูดอมไว้จากน้ำในดิน แล้วไหลซึมลึกต่อไปเป็นช่วงๆ สุดท้ายน้ำนี้จะถูกกักไว้ในช่องว่างในเนื้อหิน หรือชั้นหิน จนกระทั่งหินอิ่มตัวด้วยน้ำเช่นเดียวกับน้ำบาดาลนั่นเอง ซึ่งน้ำแร่นั้น ไม่เพียงแต่เป็นน้ำใต้ดิน หรือที่หลายคนเรียกว่าน้ำบาดาลเท่านั้น แต่ยังมีหลายที่ที่พุ่งขึ้นมาจากใต้ดินด้วย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นชั้นน้ำตื้น ทำให้เกิดเป็นน้ำพุที่ตื้นและพุ่งขึ้นมาช่วงต่อระหว่างหิน และในส่วนนี้เอาจุดบริการก็เป็นน้ำที่มีแร่ธาตุแต่ถูกปรับให้เหมาะสมต่อการบริโภค

     และวัตถุประสงค์ของโครงการศึกษาสำรวจจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชน ตามถนนสายหลัก/สายรองทั่วประเทศ กำหนดไว้ว่า เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมา ได้พักดื่มน้ำสะอาด เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน และประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสามารถน้ำภาชนะมารับน้ำไปดื่มได้

     ส่วนสาเหตุที่พบว่าน้ำมีกลิ่น ก็เพราะว่ามีน้ำที่ค้างในระบบ ยังไม่ได้ทำการล้างและเริ่มดำเนินการระบบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการขอมิเตอร์ไฟฟ้าของ อบต.อ่าวน้อย ตามที่เรียนแจ้งข้างต้น และยังไม่ได้เปิดให้บริการ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการล้างระบบ และน้ำได้ผ่านขั้นตอนการกรองในกระบวนการแล้ว ก็จะได้น้ำดื่มที่สะอาดมีแร่ธาตุต่อไป

     ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อก่อสร้างจุดบริการน้ำแร่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 4 จุด ได้แก่ หน้าที่ว่าการ   อ.หัวหิน, ตลาดร้างทุ่งกระต่ายขัง อ.เมือง, ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก และ ต.ชัยเกษม อ.บางสะพาน ขณะนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว 2 แห่ง คือ หน้าที่ว่าการ อ.หัวหิน และ ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก

     ส่วนจุดบริการน้ำแร่ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหัวหิน ได้รับแจ้งจากปลัดอำเภอหัวหินว่า ปัจจุบันมีประชาชนมาใช้บริการน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง และน้ำบาดาลที่จุดบริการแห่งนี้ได้ผ่านการวิเคราะห์คุณภาพน้ำเรียบร้อยแล้ว อยู่ในมาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคได้ ส่วนภาชนะที่ประชาชนนำมารับบริการก็เป็นของประชาชนเอง