ข่าวสารนํ้าบาดาล

อธิบดีกรมน้ำบาดาล เปิดโครงการสำรวจและประเมินศักยภาพระดับลึกฯ จังหวัดภูเก็ต

  • อัพเดทวันที่ 26 พ.ค. 65
  • อ่าน 371
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

     วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์ “โครงสำรวจและประเมินศักยภาพระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จังหวัดภูเก็ต” โดยมี นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ และนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการฯ ภายในงานมีการบรรยายเรื่อง “น้ำบาดาลจังหวัดภูเก็ต” และ “การประกอบกิจการน้ำบาดาล” จากวิทยากรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ ห้องประชุมดวงชนก โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต

     จากนั้น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคณะ เดินทางไปยังวัดป่าอร่ามรัตนาราม เพื่อติดตามการสูบทดสอบน้ำบาดาล และติดตามการเจาะบ่อน้ำบาดาล ความลึก 650 เมตร ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติร.9 อำเภอเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชากรในพื้นที่ดังกล่าว

     อนึ่ง โครงการสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จังหวัดภูเก็ตได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อสำรวจธรณีฟิสิกส์ สำรวจธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา เจาะบ่อสำรวจ เจาะบ่อผลิต และเจาะสำรวจชั้นน้ำบาดาลระดับลึก โดยจะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลสรุปศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

     ปัจจุบันจากการดำเนินโครงการฯ ไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 โดยเจาะทดสอบไปแล้วทั้งสิ้น 45 บ่อ พัฒนาเป็นบ่อน้ำบาดาลปริมาณมากกว่า 5 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง จำนวนทั้งสิ้น 14 บ่อ พบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำบาดาลมากกว่า 10 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ตำบลรัษดา อำเภอเมือง พื้นที่ตำบลวิชิต อำเภอเมือง พื้นที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง และพื้นที่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง และเมื่อทำการสูบทดสอบปริมาณน้ำพบว่า พื้นที่ตำบลรัษดา อำเภอเมือง ซึ่งมีปริมาณน้ำที่สามารถสูบได้สูงสุด 25 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการเจาะสำรวจแล้วเสร็จ จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล สรุปศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมทั้งออกแบบระบบสูบน้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำ เพื่อใช้สำหรับจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชาชนมีแหล่งน้ำบาดาลสำหรับอุปโภค-บริโภค มีแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่หมู่เกาะ และเป็นต้นแบบในการศึกษาแหล่งน้ำในพื้นที่หมู่เกาะอื่นๆ ที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ใกล้เคียงกันต่อไปในอนาคต