ข่าวสารนํ้าบาดาล

“เติมน้ำใต้ดิน” แนวทางความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำบาดาลพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ

  • อัพเดทวันที่ 22 พ.ย. 65
  • อ่าน 454
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

     กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดการประชุมสรุปผลความสำเร็จจากโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร และนครพนม สร้างความมั่นใจแนวทาง  การเติมน้ำใต้ดินสามารถช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืน

     วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2565) ณ โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง นครพนม นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน (งานทรัพยากรน้ำบาดาล) ประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยนางสาวอัคปศร    อัคราช ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนางานด้านสำรวจประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ผู้กล่าวรายงาน ผู้นำชุมชนบ้านดงขวาง บ้านนาเชือกน้อย บ้านใหม่วังเซือม และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมรับฟังการประชุมสรุปผลโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จำนวน 150 คน


     กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ได้ทำการศึกษาและทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และนครพนม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในฤดูฝน พร้อมกับภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงได้ทำการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม  เก็บข้อมูลภาคสนามขั้นรายละเอียด ออกแบบก่อสร้างระบบสระเติมน้ำใน 3 พื้นที่ตัวอย่างได้แก่ 1) บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 2) บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม 3) บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมด้านศักยภาพน้ำบาดาล จากนั้นได้ทำการทดลองเติมน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำเพื่อเพิ่มเวลาและพื้นที่สัมผัสระหว่างน้ำกับผิวดินให้มากขึ้น รวมทั้งผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการเติมลงไปกักเก็บไว้ในชั้นน้ำบาดาล และเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยในแต่ละพื้นที่จะประกอบด้วย 1) สระเติมน้ำ 2) สระตกตะกอน 3) คลองขุด 4) ฝาย

     
     จากผลการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวพบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นต่อปีได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่

  • บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีอัตราการเติมน้ำในระบบประมาณ 112,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
  • บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม มีอัตราการเติมน้ำในระบบประมาณ 107,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
  • บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม อัตราการเติมน้ำในระบบประมาณ 57,100 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

 
     ซึ่งสามารถนำน้ำบาดาลที่เพิ่มสูงขึ้นไปผลิตเป็นน้ำประปาหมู่บ้านพร้อมขยายจำนวนผู้ใช้น้ำได้มากขึ้น รวมถึงสามารถนำน้ำไปผลิตเป็นน้ำดื่มสะอาด และเพิ่มอัตรากำลังผลิตให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำในการเพาะปลูก และการปศุสัตว์ ได้อีกด้วย


     พร้อมกันนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำการวิเคราะห์และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ผ่านแบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประชาชน เอกชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ จำนวน 300 ตัวอย่าง แบบสัมภาษณ์ จำนวน 30 ตัวอย่าง การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ภาคเกษตรกรรม และภาคครัวเรือน จำนวน 2 ครั้ง หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์จากการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำ โดยพบว่ามูลค่ารวมทางเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 1) มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์จากการใช้น้ำบาดาลโดยตรงทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค เกษตรกรรม ปศุสัตว์ โดยมีปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีปราศจากสารเคมีจากเกษตรกรรม รวมทั้งประโยชน์โดยอ้อมและมูลค่าเผื่อใช้ในอนาคต 2) มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ประโยชน์ ซึ่งเกิดจากมูลค่าที่ได้เก็บไว้ให้คนรุ่นถัดไป และมูลค่าที่เกิดจากการคงอยู่ สำหรับผลทางสังคมพบว่า ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ทำการทดลองได้มีร่วมทางความคิดและการเรียนรู้ โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและการพัฒนาวิธีการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินร่วมกันให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงให้ความร่วมมือและพร้อมที่จะดูแลรักษาสระเติมน้ำซึ่งถือเป็นสาธารณะประโยชน์ในชุมชนต่อไปในอนาคต และผลทางสิ่งแวดล้อมพบว่า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่พบสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด ทำให้คุณภาพน้ำใต้ดินที่ได้จากการเติมน้ำผ่านระบบสระเติมน้ำและบ่อวงยังคงสภาพดี จึงสรุปได้ว่าการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนครและนครพนม สามารถเพิ่มความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำได้เป็นอย่างดี และสามารถใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่อื่นต่อไปได้อีกด้วย

     นางสาวอัคคปศร อัคราช ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนางานด้านสำรวจประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า การเลือกรูปแบบการเติมน้ำใต้ดินขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพธรณีวิทยา คุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ และค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลผ่านการเติมน้ำใต้ดินจะสัมฤทธิ์ผลเชิงรูปธรรมต้องใช้ระยะเวลา และความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วนในทางปฏิบัติ จึงจะใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรน้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืนตลอดไป สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลการเติมน้ำใต้ดินเพิ่มเติมได้ที่  www.dgr.go.th  -> บริการประชาชน -> ความรู้ในการเติมน้ำใต้ดิน














































แท็กที่เกี่ยวข้อง