ข่าวสารนํ้าบาดาล

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ศึกษาดูงานโครงการเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับลึก 1,008 เมตร จังหวัดสมุทรสาคร

  • อัพเดทวันที่ 20 ม.ค. 66
  • อ่าน 432
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 26 ภาพ

     วันที่ 19 มกราคม 2566 พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะ เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง และระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมคณะผู้บริหาร ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล นายสุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล นายศุภเวท ทองประยูร ผู้อำนวยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี และผู้แทนจากหน่วยงานระดับจังหวัด ได้แก่  นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวัฒนา พรประเสิรฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ร้อยตรีประพันธ์  ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร และนายอนุสรณ์  สุขรุ่งเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ


     นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครมีการเจริญเติบโตในภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีการเปิดโรงงานแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาลในการประกอบกิจการ โดยมีสถิติการใช้น้ำบาดาล 5 ปีย้อนหลัง มากกว่า 110,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือมากกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังมีแนวโน้มของการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นในอนาคต ความต้องการใช้น้ำบาดาลที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการแย่งใช้น้ำในระดับชั้นน้ำบาดาลเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่างและระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่คุณภาพดีที่ความลึก 1,008 เมตร ในชั้นหินตะกอนแห่งแรกของประเทศไทย และพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในแอ่งย่อยธนบุรีที่ระดับความลึกตั้งแต่ 640 ถึง 1,008 เมตร จำนวน 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นตะกอนกรวดทรายแทรกสลับกับชั้นดินเหนียวบางๆ แบ่งออกเป็น ชั้นที่ 1 ความลึก 640 ถึง 705 เมตร ชั้นที่ 2 ความลึก 715 ถึง 785 เมตร ชั้นที่ 3 ความลึก 810 ถึง 880 เมตร ชั้นที่ 4 ความลึก 895 ถึง 935 เมตร และชั้นที่ 5 ความลึกมากกว่า 950 เมตร สามารถแบ่งออกจากชั้นน้ำบาดาลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากถูกปิดทับด้วยชั้นดินเหนียวหนากว่า 140 เมตร ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 500 ถึง 640 เมตร จึงเป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงข้อมูลชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญของประเทศไทยในรอบ 30 ปี ที่แต่เดิม มีข้อมูลชั้นน้ำบาดาลในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 8 ชั้น ที่ระดับความลึกไม่เกิน 600 เมตร ได้แก่ ชั้นน้ำกรุงเทพ ความลึกประมาณ 50 เมตร ชั้นน้ำพระประแดง ความลึกประมาณ 100 เมตร ชั้นน้ำนครหลวง ความลึกประมาณ 150 เมตร ชั้นน้ำนนทบุรี ความลึกประมาณ 200 เมตร ชั้นน้ำสามโคก ความลึกประมาณ 300 เมตร ชั้นน้ำพญาไท ความลึกประมาณ 350 เมตร ชั้นน้ำธนบุรี ความลึกประมาณ 450 เมตร และชั้นน้ำปากน้ำ ความลึกประมาณ 550 เมตร ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค สร้างความมั่นคงและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมสามารถนำข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อภาคการผลิตในอนาคตต่อไป

 

     นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า  ขั้นตอนการสำรวจบ่อน้ำบาดาลความลึก 1,008 เมตร ประกอบด้วย การศึกษาสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน การเจาะสำรวจบ่อที่ความลึก 1,008 เมตร พร้อมเก็บตัวอย่างดิน หิน ทุกๆ 1 เมตร และวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำโคลนที่ใช้ในการเจาะ การหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ เพื่อตรวจสอบชั้นดินชั้นหินที่ระดับความลึกต่างๆ จนถึงระดับความลึก 1,008 เมตร การเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลด้วยวิธี Packer Test เพื่อคัดเลือกชั้นน้ำที่ดีที่สุด การก่อสร้างและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล พร้อมสูบทดสอบปริมาณน้ำระยะเวลา 75 ชั่วโมง เพื่อประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต
































 

แท็กที่เกี่ยวข้อง