ข่าวสารนํ้าบาดาล

การประชุมรายงานสรุปผลโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารจัดการ น้ำบาดาลกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศไทย (กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

  • อัพเดทวันที่ 4 ธ.ค. 63
  • อ่าน 1,013
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

     วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 9.30 น. นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรายงานสรุปผลโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศไทย (กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563โดยมีบุคลากรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมการประชุมฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 68 ราย

     การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลจากการประชุมและการศึกษาดูงานในต่างประเทศให้แก่บุคลากรของหน่วยงานได้รับทราบ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างทั่วถึง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ซึ่งประกอบด้วยโครงการ ดังนี้

     1. การประชุมหารือร่วมกับสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (The British Geological Survey, BGS) ด้านระบบติดตามคุณภาพน้ำบาดาล และการบริหารจัดการน้ำบาดาล
ในเขตเมือง ระหว่างวันที่ 8 - 16 ธันวาคม 2562 ณ สหราชอาณาจักร

     ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลของสหราชอาณาจักร จากการหารือและเข้าเยี่ยมหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำ 3 องค์กร ได้แก่
(1) บริษัท Tideway ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนในการก่อสร้างอุโมงค์ใต้แม่น้ำเทมส์จากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกของกรุงลอนดอน เพื่อป้องกันน้ำท่วม กำจัดของเสียหรือสิ่งปฏิกูล
ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเทมส์ อีกทั้งช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำ และปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้เหมาะสม
(2) บริษัท Mott MacDonald กลุ่มที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมอันดับต้นๆ ของประเทศอังกฤษโดยให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม 11 ด้าน ซึ่งผลงานที่สำคัญ ได้แก่ ทำให้แม่น้ำเทมส์เป็นแหล่งน้ำหลัก
สำหรับกรุงลอนดอนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในปี 2100 โดยสร้างอ่างเก็บน้ำระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล
(3) สำนักสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (The British Geological Survey, BGS) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้คำแนะนำด้านธรณีวิทยาแก่หน่วยงานรัฐบาล ภาคเอกชน หน่วยงานการศึกษาและประชาชน รวมทั้งให้คำปรึกษาการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยแก่ต่างประเทศ
โดยน้ำบาดาลในสหราชอาณาจักรเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดูแลและควบคุมการใช้น้ำบาดาล 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1) Department for Environment, Food & Rural Affairs (DEFRA) และ 2) Environment Agency (EA) ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรได้ใช้กฎระเบียบของ EU Water Framework Directive (WFD) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างทางกฎหมาย
ที่สหภาพยุโรปกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ อีกทั้งยึดถือกฎระเบียบ Groundwater Directive (GWD) ในการบริหารจัดการน้ำบาดาลที่มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้และการเติมน้ำบาดาล และคุณลักษณะทางเคมีที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การใช้น้ำบาดาลในสหราชอาณาจักรมีการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้น้ำ
การบริหารจัดการที่ดิน และการขยายตัวของเมือง โดยมีมาตรการจัดการกับปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการพื้นที่อนุรักษ์น้ำบาดาล กลยุทธ์ General Aquifer Research Development and Investigation Team (GARDIT) และกฎ London Catchment Abstraction Management Strategy (CAMS) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่น่าสนใจ เช่น จุดจ่ายน้ำดื่มในกรุงลอนดอน และการใช้เทคนิค augmented reality sandbox with real-time topographic maps ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติงานของ
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้

     2. การศึกษาดูงานเรื่อง วิจัยปั๊มความร้อนใต้พิภพ เพื่อพัฒนาและศึกษาความเป็นไปได้ของการลดพลังงานความร้อน เพื่อขับเคลื่อนระบบการทำความเย็น ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศญี่ปุ่น

     ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้ปั๊มความร้อนใต้พิภพ (Ground Source Heat Pump: GSHP) ในการขับเคลื่อนการทำงานของระบบการทำความร้อน/ความเย็นในสถานที่ต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น โดยระบบ GSHP เป็นการนำความร้อนใต้ดินมาประยุกต์ใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยใช้หลักความแตกต่างของอุณหภูมิเหนือผิวดินและใต้ผิวดิน ซึ่งใช้ระบบหมุนเวียนของน้ำดึงเอาความเย็นหรือความร้อนจากใต้ดินขึ้นมาผ่านระบบ GSHP สำหรับทำความเย็น/ความร้อนในเครื่องปรับอากาศ
และถ่ายเทความร้อน/ความเย็นผ่านระบบไหลเวียนของน้ำลงสู่ใต้ดิน ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งความร้อน-ความเย็นขนาดใหญ่และมีอุณหภูมิที่เสถียร ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยี GSHP อย่างยาวนานทั่วโลกกว่า 50 ปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้ระบบ GSHP ในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียนประถม Honmachi-Gakuen กรุงโตเกียว สถานที่ฝังกลบขยะ จังหวัดฟูกูชิมะ ห้างสรรพสินค้า IKEA เป็นต้น โดยจากการศึกษาวิจัย พบว่า GSHP สามารถลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) และสามารถทำความร้อนและความเย็นได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี การติดตั้งระบบ GSHP มีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับหากควบคุมไม่ถูกต้องอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการไหล อุณหภูมิ รวมทั้งอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในน้ำบาดาล

     3. การศึกษาดูงาน เรื่อง การเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์เพื่อการพัฒนาการประกอบกิจการน้ำบาดาลและธรรมาภิบาลน้ำบาดาล ระหว่างวันที่ 16 – 23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ราชอาณาจักรเดนมาร์กและกรีนแลนด์ และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

     ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลและเทคโนโลยีต่างๆ ในราชอาณาจักรเดนมาร์กและกรีนแลนด์ ซึ่งทรัพยากรน้ำบาดาลในประเทศเดนมาร์กมีความสำคัญ
เป็นอย่างมาก โดยเป็นแหล่งน้ำหลักในการผลิตน้ำดื่มของประเทศ มีการกระจายอำนาจในการผลิตน้ำประปาให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ โดยมีบริษัทผลิตน้ำประปาและมีบ่อน้ำบาดาลเอกชน ซึ่งมีการใช้น้ำประมาณ
750 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี โดยร้อยละ 99 ใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำในการผลิต ในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพน้ำ จะเน้นการปรับปรุงในรูปแบบง่ายๆ โดยใช้การเติมอากาศ (Aeration) และกรองผ่านทราย (Sand filter)
มีการควบคุมการใช้และการประกอบกิจการน้ำบาดาลที่เข้มงวด เนื่องจากมีนโยบายที่จะใช้วิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำแบบขั้นพื้นฐาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องอนุรักษ์และปกป้องให้น้ำบาดาลมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายด้านน้ำ (Water Supply Act) รวมทั้งมีกฎและระเบียบที่ช่วยในการดูแลเรื่องดังกล่าว อีกทั้งประชาชนยังมีความยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการให้ได้มาซึ่งน้ำบาดาลที่สะอาดและที่สำคัญพรรคการเมืองต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านน้ำบาดาลในระดับต้นๆ ส่งผลให้นโยบายด้านน้ำบาดาลถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมีการจัดทำโครงการ อาทิ การจัดทำแผนที่น้ำบาดาลแห่งชาติ 2 ระยะ การจัดทำแบบจำลองทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการน้ำบาดาลตามแนวทางของประเทศเดนมาร์ก (Danish Approach) เป็นการบริหารจัดการโดยมีความรู้เป็นพื้นฐาน (Knowledge-based management) ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาดูงานโรงงานผลิตน้ำประปา Truelsbjerg Water Work บริษัทที่ปรึกษา DHI Groupนอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลและเทคโนโลยีต่างๆ ของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกับ IGRAC ในประเด็นธรรมาภิบาลการบริหารจัดการน้ำบาดาล (Groundwater Governance) และระบบฐานข้อมูลเครือข่ายการเฝ้าระวังน้ำบาดาลเพื่อการอนุรักษ์น้ำบาดาล (Global Groundwater Monitoring Network) อีกทั้ง ศึกษาโครงการวิจัยต่างๆ ด้านน้ำบาดาล
เช่น การประเมินน้ำบาดาลและการรุกล้ำของน้ำเค็ม การประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำที่มีต่อทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งจัดทำมาตรฐาน แนวทางการแก้ไขปัญหาและการประเมินความเป็นไปได้ทางวิชาการ สังคม และเศรษฐกิจ โดยได้มีการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การประเมินทรัพยากรน้ำบาดาลนานาชาติ Deltares และ TNO-Geology Survey of The Netherlands (Utrecht): Hydro-geology Mapping โดยการบริหารจัดการน้ำบาดาลในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์มีการประเมินศักยภาพน้ำบาดาล เพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม เน้นแนวทาง Multidisciplinary Approach ที่ครอบคลุมทั้งประเด็นอุทกธรณีวิทยา สังคม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ
อย่างเป็นระบบ

     4. การประชุมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Working Group on Water Resources Management: AWGWRM) ในวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2563 โดยการประชุมระบบทางไกล ณ ห้องประชุมสายชล ชั้น 9 กรมทรัพยากรน้ำ กรุงเทพมหานคร

     ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของประเทศไทย
จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยแล้ง
ในประเทศอาเซียน (Workshop on Risks and Impacts from Extreme Events of Drought in ASEAN Countries) (2) การจัดทำแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอาเซียน (ASEAN Guidelines on Water Resources Conservation) และ (3) แผนงานการจัดการทรัพยากรน้ำใต้ดินอาเซียน (ASEAN Groundwater Management Programme) โดยผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้นำเสนอร่างรายละเอียดโครงการแผนงานการจัดการทรัพยากรน้ำใต้ดินอาเซียนต่อที่ประชุม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้
ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) สิ้นสุดลง

     5. การประชุมคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (CCOP) ประจำปีครั้งที่ 56 และการประชุมคณะกรรมการบริหาร CCOP ครั้งที่ 75 ระหว่างวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2563 โดยการประชุมระบบทางไกล ณ กรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพมหานคร

     ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินโครงการของประเทศสมาชิก CCOP ซึ่งแต่ละประเทศได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในมิติที่แตกต่างกัน เช่น สาธารณรัฐอินโดนีเซียเน้นการปรับปรุงแผนที่อนุรักษ์น้ำบาดาล การร่างกฎหมายน้ำบาดาล
และการสำรวจน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนข้อมูลในการวางผังเมืองบริเวณชายฝั่ง สหพันธรัฐมาเลเซียมีแผนจะจัดทำแผนที่น้ำบาดาล 4 D และโครงการ Managed Aquifer Recharge Storage เป็นต้น นอกจากนี้ CCOP มีแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 3 รายการ ได้แก่ (1) โครงการ CCOP-GSJ Groundwater Project Phase IV (2) โครงการ CCOP-KIGAM Groundwater Project in Mekong River Basin (2020 – 2022) และ (3) โครงการ Ground Source Heat Pump (2019 – 2021)