วันนี้ (22 ม.ค.68) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.)
นายจตุพร บุรษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารในสังกัด ทส.เดินทางลงพื้นที่
ตรวจราชการ"โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม"ณ บ้านถ่อนใหญ่
หมู่ที่ 7 ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการฯ และนายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับ
.
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และต้องการ
ให้ประชาชนมีโอกาสสร้างอาชีพตลอดทั้งปี มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสำหรับ
การอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ ผ่านโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม
ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการเจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่บ้านถ่อนใหญ่แห่งนี้ น้ำบาดาลก็มีศักยภาพเหมาะสม
และเพียงพอ พร้อมก่อสร้างระบบประปาบาดาลด้วยเทคโนโลยีการส่งน้ำระยะไกล เพื่อกระจายน้ำส่งให้แก่พื้นที่เป้าหมาย
ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำหรือมีปัญหาด้านคุณภาพน้ำ และในอนาคตได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการต่อท่อกระจายน้ำ
เพิ่มเติมไปอีก 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนแตง และบ้านเหล่าสีจาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ
และเกิดประโยชน์สูงสุด
.
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม
เกิดขึ้นเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการ
ใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอ และการพัฒนาน้ำบาดาลกร่อย เค็ม ทำให้พัฒนาน้ำบาดาลได้ยาก
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่พบว่า บ้านถ่อนใหญ่ หมู่ที่7 เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาล เฉลี่ย 10-20 ลบ.ม./ชม.
และคุณภาพน้ำบาดาลจึด สามารถนำไปพัฒนาเป็นโครงการได้ จึงได้จัดทำ "โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
หรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565" โดยมีรูปแบบโครงการประกอบด้วย
1) บ่อน้ำบาดาลขนาด 6 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ
2) ถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 100 ลบ.ม. จำนวน 2 ถัง
3) หอถังสูง ขนาด 85 ลบ.ม.
4) จุดจ่ายน้ำถาวร
.
ปัจจุบันสามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้มากถึง 385,440 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 325 ครัวเรือน
หรือ 11,568 คน ประชาชนใช้น้ำไปแล้ว 340,162 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ประชาชนได้มีการร้องขอให้ขยายท่อส่งน้ำไปยัง
อีก 2 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนแตง และบ้านเหล่าสีจาน ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
.สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีเป้าหมายดำเนินโครงการน้ำบาดาลในพื้นที่จัดหวัดอุดรธานี
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและช่วยเหลือประชาชน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่
1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8 แห่ง
2. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ จำนวน 4 แห่ง
3. โครงการพัฒนานัำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ จำนวน 3 แห่ง
4. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน จำนวน 2 แห่ง
5. โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม จำนวน 2 แห่ง
#กรมทรัพยากรน้ำบาดาล #dgr#mnre
#กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม