วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)
มอบหมายให้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
เปิดการประชุมระหว่างประเทศ เรื่อง "การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในภูมิภาคอาเซียน" ภายใต้หัวข้อ
"Regional Meeting on ASEAN Groundwater Resources Management" ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ พร้อมกิจกรรมศึกษาดูงาน วันที่ 21 พฤษภาคม 2568
ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา
.
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "น้ำบาดาล" เป็นทรัพยากร
ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในหลายประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่ขาดแคลนน้ำผิวดิน
หรือระบบประปายังไม่ครอบคลุม น้ำบาดาลจึงเป็นแหล่งน้ำหลัก ที่ประชาชนพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค
เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อีกทั้งลักษณะ ของน้ำบาดาลที่สามารถไหลข้ามพรมแดน ทำให้การบริหารจัดการต้องอาศัย
ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ
สามารถแบ่งปันและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันประเทศไทย
ยังพร้อมที่จะเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากเพื่อนสมาชิกเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทอย่างเหมาะสม
.
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงการจัดประชุมระดับภูมิภาคครั้งสำคัญนี้ว่า
ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของน้ำบาดาล ในฐานะทรัพยากรที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านน้ำในหลายประเทศ
ของภูมิภาคอาเซียน จึงกำหนดให้มีการประชุมระหว่างประเทศ เรื่อง "การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในภูมิภาคอาเซียน"
เพื่อผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวถูกรวมไว้ในวาระของคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ และเสริมสร้างความร่วมมือ
ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาล
รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
จะนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของไทย ตั้งแต่การสำรวจ พัฒนา อนุรักษ์
และการควบคุมกิจการน้ำบาดาล ตลอดจนกิจกรรมศึกษาดูงาน วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ณ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16
จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดินและน้ำใต้ดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางฟื้นฟูแหล่งน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและ
ป้องกันการแพร่กระจายของสารปนเปื้อนพื้นที่แห่งนี้จะเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากปัญหาการปนเปื้อน
ของน้ำใต้ดินก็เป็นปัญหาที่หลาย ๆ ประเทศเผชิญอยู่เช่นกัน
.
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ได้แก่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำบาดาลของไทย การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบาดาลของไทย การพัฒนาน้ำบาดาล
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนกาก
ของเสียอุตสาหกรรม และภารกิจของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล พร้อมหน่วยงานประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ
และหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สำนักสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งญี่ปุ่น (GSJ) สถาบันการจัดการน้ำระหว่างประเทศ
(IWMI) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ
.
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมฯ จะนำไปรายงานต่อที่ประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ
(ASEAN Working Group on Water Resources Management:AWGWRM) ในวันที่ 4 มิถุนายน 2568
ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำบาดาลของภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมต่อไป
#กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
#MNRE #กรมทรัพยากรน้ำบาดาล #DGR