ข่าวสารนํ้าบาดาล

สทบ. เขต 2 (สุพรรณบุรี) : คณะนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ทัศนศึกษาดูงานการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จังหวัดสุพรรณบุรี

  • อัพเดทวันที่ 27 มี.ค. 68
  • อ่าน 17
  • เผยแพร่โดย Administrator Webpage BGR-2
Email
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) : คณะนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ทัศนศึกษาดูงานการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จังหวัดสุพรรณบุรี
.
วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) จัดการทัศนศึกษาดูงานการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ลงเรียนรายวิชา "Groundwater Development and Management" สาขาวิศวกรรมทางน้ำและการจัดการ (Water Engineering and Management : WEM) ณ โครงการศึกษาระบบประปาบาดาลโดยใช้เทคนิคการเจาะและประสิทธิภาพบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ระดับลึก ด้วยวิธีการเจาะแบบระบบหมุนดูดกลับ (Reverse Circulation, RC) และแบบระบบหมุนตรง (Direct Circulation, DC) ในพื้นที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี (ระยะที่ 2) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มอบหมายให้สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กองแผนงาน และสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีตำบลบ้านกร่าง ให้การต้อนรับ
.
ในการนี้ นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) และเจ้าหน้าที่สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กองแผนงาน บรรยายรูปแบบการดำเนินงานและผลการดำเนินงานโครงการฯ สามารถสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านกร่าง หมู่ที่ 4 จำนวน 250 ครัวเรือน หรือ 850 คน และหมู่ที่ 6 จำนวน 269 ครัวเรือน หรือ 730 คน ระบบประปาบาดาลสามารถผลิตน้ำบาดาลได้มากถึง 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
.
ทั้งนี้ คณะนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่นักศึกษาและยกตัวอย่างให้เห็นภาพจริงมากขึ้น อาทิ วิธีการเจาะ ความแตกต่างของการเจาะ ความคุ้มค่าของค่าน้ำ ทำให้มีความรู้ความเข้าใจด้านน้ำบาดาลเป็นอย่างดีมากยิ่งขึ้น