ข้อมูลองค์กร

ประวัติ

การใช้น้ำของมนุษย์ในโลกเริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ แต่ที่แน่นอนคือเริ่มต้นจากประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่แห้งแล้ง การนำน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ในอดีตมีหลักฐานสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบันในแถบเอเซียกลาง ทั้งในประเทศอียิปต์ และอิหร่าน ซึ่งมีมาตั้งแต่ประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้แก่ Kanat ซึ่งเป็นระบบอุโมงค์ส่งน้ำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ขุดขึ้นตามแนวชั้นหินหรือชั้นทรายที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล โดยทำเป็นปล่องที่สามารถสูบหรือตักน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เป็นระยะ ๆ ตลอดความยาวของอุโมงค์ ตัวอุโมงค์มักเริ่มจากเชิงเขาไปตามความลาดเอียงของภูมิประเทศ น้ำบาดาลจะไหลตามความลาดเอียงของอุโมงค์เหมือนน้ำในลำคลอง ระบบ Kanat ที่เมืองเตหะรานยาว 8-16 ไมล์ ลึกที่สุดประมาณ 150 เมตร สามารถใช้ทำกสิกรรมและอุปโภคบริโภคสำหรับคนถึง 275,500 คน ระบบ Kanat เมืองดิชฟุล ขุดไปตามแนวสันทรายใต้ดินลอดใต้ตัวเมือง อาคารบ้านเรือน และพื้นที่กสิกรรมทำให้เกิดระบบถ่ายเทความร้อนและได้รับความเย็นชุ่มชื่นจากอุโมงค์ส่งน้ำในฤดูร้อน ระบบ Kanat ในอียิปต์สร้างโดยพลเรือนเอกไชลอกช์ เพื่อการชลประทานในพื้นที่ 1,800 ตารางไมล์ โดยการขุดอุโมงค์เข้าไปในชั้นหินทรายได้น้ำบาดาลจากแนวรอยเลื่อนของหิน การพัฒนาน้ำบาดาลระบบ Kanat เป็นการดำเนินการด้วยวิธีการขุดทั้งสิ้น

การพัฒนาน้ำบาดาลโดยการเจาะเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศจีนประมาณปี พ.ศ.1669 เครื่องเจาะเครื่องแรกประกอบด้วย ไม้และไม้ไผ่ โดยใช้ไม้ไผ่เป็นก้านเจาะและท่อกรุการทำงานของเครื่องเจาะใช้หลักการแบบเจาะกระทุ้งโดยใช้แรงคน สามารถเจาะได้ลึกประมาณ 1,500 เมตร โดยใช้เวลาในการเจาะบ่อดังกล่าวถึง 3 ช่วงอายุคน ต่อมาในปี พ.ศ. 2421 จึงมีการประดิษฐ์เครื่องเจาะแบบใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนแรงคนขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็มีการดัดแปลงแก้ไขปรับปรุงทั้งเครื่องเจาะ วิธีการเจาะเรื่อยมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องเจาะกระทุ้ง (Churn drill) เครื่องเจาะสว่าน (Auger drill) เครื่องเจาะฉีด (Jet drill) เครื่องเจาะกระแทก (Percussion drill) เครื่องเจาะหมุน (Rotary drill) เครื่องเจาะหมุนกลับ (Reverse rotary drill) ฯลฯ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สำหรับด้านวิชาการน้ำบาดาลที่เกี่ยวกับทฤษฎี การเกิด การกักเก็บ และพฤติกรรมต่าง ๆ ของน้ำบาดาลเกิดขึ้นมาในภายหลัง โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 มีแนวคิดของนักปรัชญาโรมัน และกรีก เกี่ยวกับกำเนิดของน้ำบาดาลค่อนข้างจะแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น เช่น น้ำพุเกิดจากน้ำทะเลที่ไหลผ่านเข้าไปใต้ภูเขาเป็นลำธารใต้ดิน และมีสิ่งที่ช่วยกรองให้น้ำเค็มกลายเป็นน้ำจืดแล้วปล่อยออกมาเป็นน้ำพุ หรือในประเทศเยอรมนีมีความเชื่อว่าโลกเป็นสัตว์มหึมาที่ดูดกลืนน้ำทะเลเข้าไปแล้วคายออกมาเป็นน้ำพุ

ตอนปลายของศตวรรษที่ 17 เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของอุทกธรณีวิทยาและวัฏจักรของน้ำ มีการตั้งทฤษฎีต่าง ๆ โดยอาศัยหลักฐานข้อมูล และการคำนวณตัวเลขที่ได้จากการทดลอง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการวางรากฐานวิชาธรณีวิทยาขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ อุทกธรณีวิทยา การกำเนินและการเคลื่อนไหวของน้ำบาดาล ระหว่างปี พ.ศ. 2346-2401 Henry Darcy ได้เป็นผู้ให้กำเนิด Darcy's lawซึ่งเป็นรากฐาน ของวิชาการน้ำบาดาลที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีการเจาะบ่อบาดาลได้น้ำพุในประเทศฝรั่งเศส จึงทำให้มีผู้สนใจเกี่ยวกับวิชาการน้ำบาดาล มากขึ้นอย่างกว้างขวาง

 

การพัฒนาน้ำภายในประเทศ

การใช้น้ำบาดาลในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างแน่ชัดเช่นกันการตั้งชุมชนของคนไทยในสมัยโบราณส่วนใหญ่มักอยู่ในบริเวณที่ ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง อันเป็นแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินตามธรรมชาติในอดีตประชากรของประเทศยังมีปริมาณไม่มากนัก จึงมีแหล่งน้ำผิวดินเพียงพอที่จะใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรมได้ในทุกฤดูกาล ประกอบกับประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุก ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ แม้จะมีฝนตกเฉพาะในช่วงฤดูฝนและไม่มีฝนตกในช่วงฤดูแล้ง

แต่แหล่งกักเก็บน้ำผิวดินก็ยังเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรมในแต่ละปี  แต่ก็มีชุนของคนไทยบางส่วนที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำผิวดิน หรือแม้จะตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำผิวดินแต่ก็มีขนาดเล็กไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดฤดูแล้ง จึงมีการขุดบ่อบาดาลโดยอาศัยแรงคน โดยบ่อขุดในสมัยโบราณจะเป็นบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยม มีการกรุรอบบ่อด้วยไม้กระดานหรือการน้ำก้อนหินมาเรียงบริเวณขอบบ่อเพื่อกันดินพัง

บางแห่งก็ไม่มีการกรุบ่อเลยเนื่องจากเป็นการขุดบ่อใช้ชั่วคราวในช่วงหน้าแล้งที่ขาดน้ำเท่านั้น ความลึกของบ่อขุดขึ้นอยู่กับระดับน้ำบาดาลในบริเวณนั้นว่าลึกเท่าใด การพัฒนาน้ำบาดาลของประชาชนคนไทยในเบื้องต้นจึงเป็นการพัฒนาน้ำบาดาลระดับตื้นโดยการขุดเท่านั้น

ต่อมาประเทศไทยได้พัฒนาประเทศด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชนให้ดีขึ้น โดยมีนโยบายหนึ่งก็คือการมีส้วมซึมทุกหลังคาเรียนในชุมชนทุกชุมชน การทำส้วมซึมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นในชุมชนต่าง ๆ เสียไป เนื่องจากการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายของมนุษย์ ภายหลังจึงเกิดภาพที่ประชาชนไปเข็นน้ำจากบ่อขุดตามท้องไร่ท้องนาที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากชั้นน้ำไม่ได้ถูกปนเปื้อนจากส้วมซึม

 

การเจาะบ่อน้ำบาดาลระดับลึกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2450

    โดนนายเส็งยัง แซ่อาว เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อาวย่งซุนฮวด ได้เจาะบ่อน้ำบาดาลโดยใช้ไม้ไผ่ ต้นแบบของเครื่องเจาะไม้ไผ่มากจากประเทศจีน โดยเจาะบ่อบาดาลบ่อแรกที่โรงพยาบาลเทียบหัวย่านเยาวราช กรุงเทพฯ ใกล้โรงภาพยนตร์นิวโอเดียนในอดีต ความลึกประมาณ 120 เมตร ได้น้ำบาดาลพอที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ บริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการน้ำบาดาลแห่งแรกของประเทศไทยคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อาวย่งซุนวด โดยรับจ้างเจาะบ่อบาดาลด้วย เครื่องเจาะแบบไม้ไผ่ตลอดมาจนถึงปลายปี พ.ศ.2510 ได้ทำการเจาะบ่อบาดาลไม้ไผ่เป็นเครื่องสุดท้ายที่บริเวณที่ดินจัดสรรใกล้โรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ และได้เลิกใช้เครื่องเจาะประเภทนี้ตั้งแต่นั้นมา

  • พ.ศ. 2452

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดให้มีการประปาในกรุงเทพฯ โดยใช้แหล่งน้ำผิวดินในคลองประปา เป็นแหล่งน้ำดิบ ในอดีตแหล่งน้ำผิวดินมีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค เนื่องจากยังไม่มีประชากรหนาแน่นดังเช่นปัจจุบัน ต่อมาภายหลังเมื่อมีการขยายตัวของชุมชน และขยายเขตบริการของการประปา ทำให้มีการเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำบาดาลเพื่อนำน้ำบาดาลมาใช้ เป็นน้ำดิบร่วมกับแหล่งน้ำผิวดิน

  • พ.ศ. 2461

    กรมราชทัณฑ์ได้จ้างชาวตะวันตกไม่ปรากฏสัญชาติใช้เครื่องเจาะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ เจาะบ่อบาดาลที่เรือนจำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเจาะบ่อบาดาลในเรือนจำต่าง ๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งเรือนจำกรุงเทพฯ ดังนั้นงานด้านการเจาะพัฒนา น้ำบาดาลครั้งแรกในประเทศไทยเริ่มต้นครั้งแรกโดยภาพเอกชน สำหรับหน่วยงานราชการหน่วยแรกที่เริ่มพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์คือ กรมราชทัณฑ์

  • พ.ศ. 2476
    -
    2501

    กรมโยธาธิการได้ซื้อเครื่องเจาะอีเวอร์ท (E-Worth) ซึ่งเป็นเครื่องเจาะแบบลูกผสม (Combination) และได้ว่าจ้างวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ นายกาเบรียล (Mr. Gabrial) เป็นผู้ดำเนินการเจาะ และได้ซื้อเครื่องเจาะแบบกระแทกยี่ห้อ Bycirus Erri จากประเทศอังกฤษ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อเจาะบ่อบาดาลสำหรับการทำประปาเทศบาลและสุขาภิบาลต่าง ๆ ตามคำร้องขอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 กรมโยธาธิการได้จัดตั้ง โครงการเจาะน้ำบาดาล โดยสังกัดกองประปาภูมิภาค กำหนดเป้าหมายเจาะบ่อบาดาลในท้องถิ่นชนบททั่วราชอาณาจักร

  • พ.ศ. 2480

    ประมาณ ปี พ.ศ. 2480 มีการสั่งหัวตอกจากต่างประเทศเข้ามาทำบ่อตอกน้ำบาดาลในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง การทำบ่อตอกส่วนใหญ่ทำในบริเวณที่มีน้ำบาดาลระดับตื้น ประเภท กรวด ทราย ตามหัวเมืองภาคต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน กาญจนบุรี ราชบุรีและสงขลา ซึ่งมีชั้นน้ำบาดาลอยู่ลึกระหว่าง 15-20 เมตร ตามบริเวณทางน้ำเก่า หรือบริเวณใกล้ทางน้ำสายปัจจุบัน

  • พ.ศ. 2490

    บริษัท บางกอกวอเตอร์เวอร์ค จำกัด ได้สั่งซื้อเครื่องเจาะแบบ Reverse rotary จากประเทศอังกฤษ เพื่อเจาะบ่อบาดาลในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นการเจาะบ่อบาดาลเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 8 นิ้ว เพื่อสูบน้ำทำประปาให้แก่การประปานครหลวงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้มีการเจาะ บ่อบาดาลในกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวาง มีบริษัทรับจ้างเจาะบ่อบาดาล และขายเครื่องสูบน้ำบ่อลึก ก่อตั้งขึ้นอีกหลายแห่ง บางบริษัทสามารถสร้าง เครื่องเจาะได้เอง โดยเหตุที่เครื่องเจาะชนิดนี้สามารถใช้เจาะได้ในชั้นน้ำบาดาลประเภทกรวด ทรายเท่านั้น

    การเจาะบ่อจึงดำเนินการอยู่ในเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเครื่องเจาะที่กล่าวมาข้างต้นเหมาะสำหรับการทำบ่อบาดาลขนาดใหญ่ เพื่อทำประปาและอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเจาะบ่อบาดาลขนาดเล็กที่จะใช้ในครัวเรือนหรือหมู่บ้านที่ต้องการใช้บ่อขนาด 2-6 นิ้ว จึงมีการสร้างเครื่องเจาะหมุนขึ้น ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2508 ส่วนแท่นเจาะหมุนสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510

 

กว่าจะเป็นกองน้ำบาดาล
  • พ.ศ. 2495

    กรมอนามัยได้รับเครื่องเจาะแบบสว่าน (Auger) จาก ECA และ MSA จำนวน 10 เครื่อง ดำเนินการเจาะ ระหว่างปี พ.ศ. 2495-2497 ระยะเวลา 2 ปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี เจาะบ่อบาดาล จำนวน 374 บ่อ เจาะได้ผลเพียง 13% เนื่องจากขาดความรู้และข้อมูลด้านวิชาการน้ำบาดาล

  • พ.ศ. 2496

    กรมโลหกิจ ได้ส่งนักธรณีวิทยาประกอบไปด้วย นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ และ นายดิ้น บุนนาค ออกทำการสำรวจธรณีวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผลการสำรวจทางธรณีวิทยาชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำในภาคนี้โดยทำอ่างเก็บน้ำ และเจาะบ่อตื้นจะได้ผลน้อยและ สภาพทางธรณีวิทยาแสดงให้เห็นว่าใต้พื้นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจเป็นที่กักเก็บน้ำบาดาลจำนวนมากพอที่จะใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ ในอีกทางหนึ่ง