ข้อมูลองค์กร

มูลนิธิชัยพัฒนา

มูลนิธิชัยพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิชัยพัฒนา" โดย ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา เกิดความสมบูรณ์ขึ้น

"ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ ... เป็น เมืองไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนาตามที่ได้ตั้งชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี"

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่นๆ
  2. เพื่อส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น และให้สามารถช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้
  3. ดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม
  4. ร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือดำเนินการเพื่อเน้นในการสนับสนุนสาธารณประโยชน์
  5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง

เป้าหมาย

เป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา

แนวทางการดำเนินงาน

  

Our Approach 1

...งานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นต้องทำเร็ว คิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว ... เรื่องเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในระบบระเบียบของทางราชการ เนื่องจากราชการมีขั้นตอน ระเบียบแบบแผนที่ยุ่งยากพอสมควร จะไม่ทันกับเวลาและปัญหาที่ต้องใช้ความรวดเร็ว ... มูลนิธิฯ ดำเนินการเป็นตัวอย่างก่อน หากรัฐบาลเห็นสมควรว่ามีประโยชน์ก็นำไปทำต่อ หรือจะนำแบบอย่างไปทดลองที่อื่นก็ได้...

(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 11 กรกฎาคม 2539)

การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นไปตามแนว พระราชดำริ โดยเน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน โครงการของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่จะพยายามสนับสนุน ส่งเสริม และประสานการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการของรัฐถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นผลทำให้โครงการนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เช่น ในกรณีที่อาจต้องจัดซื้อที่ดินจากราษฎรบางส่วนเพื่อดำเนินงานตามโครงการ หนึ่ง แต่รัฐมีปัญหาด้านงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดซื้อ หรือมิได้ตั้งงบประมาณไว้ หรือถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่างๆ ทำให้ดำเนินการจัดซื้อไม่ได้ หรือต้องตั้งงบประมาณจัดซื้อใน 1-2 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โครงการล่าช้าไป เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้มูลนิธิชัยพัฒนาจะได้ช่วยเหลือตามความเหมาะสมเพื่อให้โครงการ นั้น ๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด  วิธีการดังตัวอย่างข้างต้นนี้ อาจนับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ของแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีมูลนิธิชัยพัฒนาใน ฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่จะเข้ามาประสานงาน ร่วมมือ สนับสนุน โครงการพัฒนาของรัฐอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้โครงการที่มีปัญหานั้นๆ สามารถดำเนินงานไปได้ โดยก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีต

"มูลนิธิชัยพัฒนา มิได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนให้มีกิน ให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่สร้างสรรค์ โดยช่วยในการให้มีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ หรือจะเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยให้สามารถที่จะทำการทำมาหากินโดยมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับโครงการในด้านการเกษตรก็ได้ทำมาก และในด้านเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ทำ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเป้าหมายก็คือความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะ"

ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การเกิดอุทกภัยน้ำท่วมหลากในปี 2538 ส่ง ผลให้เกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นปริมาณมากและยาวนาน ทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่เศรษฐกิจและสังคมในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงประเทศชาติอย่างเป็นวงจรด้วย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระราชดำริในการป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วม ซึ่งที่ดินชัยพัฒนาได้มีส่วนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ที่ดินที่ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จัดสร้างเป็น โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 เป็นสระเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 2,800 ไร่ ใช้ประโยชน์ในการรองรับน้ำที่ไหล่บ่ามาจากที่ราบลุ่มตอนบน นอกจากเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนใกล้เคียงมีน้ำใช้ ทั้งการอุปโภคบริโภค รวมถึงการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย   การพัฒนาพื้นที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ได้จัดทำเป็นสวนป่ารุกขชาติ เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ คือ โครงการสวนรุกขชาติอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดินประมาณ 11 ไร่ ที่บ้านสบกเขียว ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จัดทำเป็นสวนสาธารณะชุมชนให้ราษฎรได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลศรีนาวาเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จัดทำเป็นป่าชุมชนที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และดูแลป่า ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน