ข้อมูลองค์กร

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.)

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.

            จัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2548 เพื่อเป็นกระบวนการและกลไกในการเสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ การเสริมสร้างและการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น การเก็บรักษาคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ การถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการหลวง และการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนพื้นที่สูง ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในระดับนานาชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ขยายวัตถุประสงค์ให้สามารถบริหารจัดการสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองครองราชย์ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” และต่อมาสำนักราชเลขาธิการแจ้งชื่อภาษาอังกฤษว่า "Royal Park Rajapruek" ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ “โครงการขยายผลโครงการหลวง” เป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (Highland Development Project Using Royal Project System)”

วิสัยทัศน์

           ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พันธกิจ

  1. การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนางานของโครงการหลวง และการวิจัยต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
  2. การพัฒนาบนฐานความรู้ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การขยายผลองค์ความรู้โครงการหลวงอย่างเป็นระบบ และการสร้างรายได้ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับตลาดและผู้บริโภค
  3. การพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้โครงการตามแนวพระราชดำริและโครงการหลวง ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านการเกษตร และวัฒนธรรม และมีรายได้ที่สามารถดูแลตัวเองได้
  4. สนับสนุนและดำเนินการให้มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสินค้าโครงการหลวง และสินค้าในโครงการของสถาบันจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการให้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และหุ้นส่วนในการพัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ
  5. การพัฒนาองค์กรตามแนวทาง TQA (รางวัลคุณภาพแห่งชาติ : Thailand Quality Award) ทั้งด้านการวิจัย งานพัฒนา และการเชื่อมโยงองค์ความรู้โครงการหลวงไปสู่ชุมชน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์

  1. การวิจัย
  2. การสนับสนุนงานโครงการหลวงและพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง
  3. การพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้
  4. การบริหารและพัฒนาองค์กร

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2552 มีวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ดังนี้

  1. ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนางานโครงการหลวง
  2. สนับสนุนการวิจัย รวบรวมและเก็บรักษานวัตกรรมใหม่เสริมสร้างและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนรักษาคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง
  3. ส่งเสริมและประสาน ความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนาและการถ่ายทอดข้อมูลและเทคโนโลยีบนพื้นที่สูงที่เหมาะสมสู่ชุมชน
  4. จัดให้มีการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างครบวงจร เช่น ด้านการผลิต การตลาด มาตรฐานผลิตภัณฑ์การขนส่งสินค้า ตลอดจน เป็นศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการดำเนินการดังกล่าว
  5. ร่วมมือและแลกเปลี่ยนการพัฒนาทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงในระดับนานาชาติ
  6. ให้บริการด้านการให้คำปรึกษาและการให้บริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สูงที่ได้จากการค้นคว้า วิจัย และการพัฒนา
  7. สนับสนุนและการดำเนินการให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสินค้าโครงการหลวง และสินค้าในโครงการของสถาบันจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ การจดสิทธิบัตร เครื่องหมายทางการค้าและทรัพย์สิน
  8. จัดนิทรรศการการด้านการเกษตร ด้านความหลากหลายชีวภาพและด้านอื่นๆ ดำเนินการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวละการพักผ่อนทางการเกษตรและการอนุรักษ์พันธุ์พืช อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

ภารกิจหลัก

สนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

  1. ด้านงานวิจัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยโครงการหลวง และการวิจัยและพัฒนาผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
  2. ด้านงานส่งเสริมและขยายผล โดยการนำองค์ความรู้โครงการหลวงและเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้เกิดความยั่งยืน
  3. ด้านงานพัฒนาเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วนในความร่วมมือด้านต่างๆ โดยการสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนงานวิจัย งานพัฒนา อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ทั้งภายในสถาบัน โครงการหลวง และหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
  4. ด้านงานพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้และเป็นจุดเชื่อมโยงการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนา ผลงานโครงการหลวงและพื้นที่สูง
  5. ด้านงานบริหารและพัฒนาองค์กร เพื่อเสริมสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง

หลักการดำเนินงาน

  • พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานแด่โครงการหลวงในการพัฒนาพื้นที่สูง เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2517 ณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    “เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปรามการปลูกฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้เป็นผลอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราสู่หายนะได้ ที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดี กินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำโครงการนี้สำเร็จให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่งและสนับสนุนนโยบาย จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป และยั่งยืนมาก”
  • พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในพิธีปิดการสัมมนาการเกษตรภาคเหนือ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 ณ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
    “...หากเราทำ ป่า 3 อย่าง ให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์และได้ใช้ประโยชน์ เขาก็จะรักษาประโยชน์ เขาจะไม่ทำลาย และใครมาทำลาย เขาก็ป้องกัน หมายความว่า ชาวบ้านนั้น ถ้าเราให้โอกาสให้เขามีอยู่มีกินพอสมควรก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้เราเป็นจำนวนมาก อย่างในร่องหุบเขาเล็กๆ ที่มีเพียง 50 ไร่ ก็จะเป็นหมู่บ้านให้ชาวเขามาอยู่ คำว่าชาวบ้านนี้จะเรียกว่าชาวบ้านก็ได้ ชาวเขาก็ได้ ก็เป็นชาวบ้านทั้งนั้น เคยไปถามชาวเขาพูดถึงเรื่องว่าจะทำโครงการอะไรๆ เราก็ต้องช่วยกันรักษานะ เขาบอกว่า หมู่เฮาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ก็หมายความว่าเป็นชาวบ้านเหมือนกัน ช่วยกันทำ เขาก็อยากอยู่ใต้กฎหมาย ทำงานที่สุจริต ถ้าเราทำอะไรที่ดีมีเหตุผล เขาก็จะรักษา ป่า 3 อย่าง ให้เรา ถ้าจะถือว่า ป่า 3 อย่าง นี้ไม่ใช่รักษาต้นน้ำลำธารแล้ว ก็เป็นความคิดที่ผิด เพราะว่าต้นไม้ จะเป็นต้นอะไรก็ตามมีประโยชน์ทั้งนั้น ใช้ประโยชน์จากต้นไม้นั้น และมีประโยชน์ที่ 4 คือ อนุรักษ์ดิน และอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร...”   “...แห่งใดที่ทางการยังไม่ถือว่าเป็นเขตที่เพิกถอนป่าสงวน และประชาชนเข้าไปทำกิน ก็ต้องมีการควบคุม อย่างเช่น โครงการหลวงไปควบคุมให้เขาถือว่าเค้าทำถูกต้องแล้ว ไม่ทำลายป่าไม้เพิ่มเติม หรือไม่ทำให้เสียหาย เขามีสิทธิ เลยคิดว่าควรให้ใบแสดงว่ามี “สิทธิ์ทำกิน” ก็กลายเป็น “สทก” “สิทธิ์ทำกิน” นี้ ถ้าให้เป็นตัวบุคคล เขาก็เอาไปขาย จึงนึกว่าจะต้องทำให้เป็นของหมู่บ้านหรือกลุ่มที่หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ มีหัวหน้า มีกรรมการ แล้วก็มีองค์การหน่วยหนึ่งหน่วยใดเข้าไปช่วย เช่น โครงการหลวง หรือป่าไม้เอง หรือจะเป็นกรรมการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นสำหรับในส่วนนั้น ร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ กรมที่ดิน อำเภอ และจังหวัด ให้กำหนดเขตของหมู่บ้านนั้นๆ เขตที่ทำกิน รวมทั้งเขตป่าไม้ใช้สอยด้วย ให้กำหนดอย่างนั้น ให้อยู่ในควบคุม...”
  • ยึดหลักการดำเนินงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์

  1. ด้านเศรษฐกิจ คือ ชุมชนเป้าหมายมีความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิตตามแนวทางโครงการหลวงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ด้านสังคม คือ ชุมชนเป้าหมายบนพื้นที่สูงมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้และสามารถบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้จากการสนับสนุนงานโครงการหลวงและพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง
  3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เป้าหมายลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และการฟื้นฟู อนุรักษ์และจัดการอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน
  4. ด้านบริหารจัดการ คือ การบริหารจัดการของสถาบันมีประสิทธิภาพ และดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล และอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้พระราชกรณียกิจ และแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตร และความหลากหลายของพรรณไม้ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน