ข่าวสารนํ้าบาดาล

โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ จำนวน 36 แห่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

  • อัพเดทวันที่ 3 ม.ค. 66
  • อ่าน 612
  • เผยแพร่โดย นรินทร์ภัทร สสิพรรณ์
Email

1) หลักการและเหตุผลความจำเป็น

               ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม 149.25 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 116.486 ล้านไร่ ที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศโลก ทำให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง มีผลกระทบรวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อน มีปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพการเกษตร มีผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนเกิดภาวะหนี้สินและความเสี่ยงต่อการลงทุน ไม่มีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม ในขณะเดียวกันจากสภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดความไม่แน่นอนทำให้มีแรงงานจากภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการท่องเที่ยว และอื่นๆ ส่วนหนึ่งอพยพคืนถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพการเกษตร ดังนั้น น้ำ คือปัจจัยหลักในการสร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำภาคการผลิตด้านการเกษตร เพื่อรองรับสภาวการณ์ดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญและมีปริมาณกักเก็บจำนวนมาก ที่สามารถพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์และมีคุณภาพน้ำที่ดี สามารถนำมาใช้ได้ทุกฤดูกาลทั้งปี
               กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตรกรรม และสร้างแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยแก้ปัญหาความยากจน ลดปัญหาด้านสังคม การย้ายกลับภูมิลำเนา และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้มีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับนานาชาติและเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาโดยมุ่งพื้นที่เป้าหมายเกษตรชุมชนนอกเขตชลประทานและพื้นที่หาน้ำยากเพื่อจะช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมมากที่สุด โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 36 แห่ง รวม 32 จังหวัด คิดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 540 ครัวเรือน ปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 6.9984 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 18,000 ไร่

 

2) วัตถุประสงค์โครงการ

               2.1) เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในลักษณะของการบูรณาการแหล่งน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ จำนวน 36 แห่ง
               2.2) เพื่อก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้มีการใช้น้ำบาดาลให้เป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
               2.3) เพื่อส่งมอบการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาล ระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการน้ำบาดาลร่วมกับกลุ่มเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ

 

3) กิจกรรม/วิธีดำเนินการ

               กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินงานสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

               (1) สำรวจคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม
                              (1.1) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิที่เกี่ยวข้อง และทบทวนข้อมูลเบื้องต้นด้านสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ศักยภาพน้ำบาดาลทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์พื้นที่น้ำบาดาลที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ
                              (1.2) สำรวจข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติม ประกอบด้วย ข้อมูลทางด้านธรณีวิทยา ธรณีวิทยาสัณฐาน อุทกธรณีวิทยาและข้อมูลบ่อน้ำบาดาล พร้อมทั้งทำการตรวจวัดระดับและคุณภาพน้ำบาดาล สำรวจธรณีฟิสิกส์บนผิวดิน (Surface Geophysical Investigation) เพื่อหาขอบเขตการแผ่กระจายตัวของหน่วยหินทางอุทกธรณีวิทยา
               (2) การเจาะและพัฒนาบ่อ
                              (2.1) ดำเนินการเจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาล โดยมีรูปแบบการก่อสร้างบ่อตามมาตรฐานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างดิน-หิน ที่ความลึกทุกๆ 1 เมตร โดยต้องติดแผ่นป้ายแสดงหมายเลขบ่อ ความลึกเจาะ และความลึกพัฒนา ตามรูปแบบมาตรฐานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
                              (2.2) ดำเนินการหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ (Geophysical borehole logs or Electric logs) ของหลุมเจาะในข้อ (2.1)
                              (2.3) สูบทดสอบปริมาณน้ำด้วยอัตราการสูบคงที่ (Constant-rate Pumping Test) ของบ่อน้ำบาดาลในข้อ (2.1) โดยดำเนินการสูบทดสอบปริมาณน้ำ เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ชั่วโมงหรือจนกว่าระดับน้ำจะคงที่ไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง และวัดระดับน้ำคืนตัว (Recovery Test) จนกว่าระดับน้ำจะคืนตัวถึงระดับน้ำก่อนสูบโดยดำเนินการสูบทดสอบเพื่อหาคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของชั้นน้ำบาดาล (Hydraulic Properties of Aquifers) ได้แก่ สัมประสิทธิ์การจ่ายน้ำ (Transmissivity, T) สัมประสิทธิ์การยอมให้น้ำซึมผ่าน (Hydraulic Conductivity, K) และสัมประสิทธิ์การกักเก็บ (Storativity, S) เพื่อนำไปกำหนดขนาดเครื่องสูบน้ำบาดาล พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ
                              (2.4) ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพและทางเคมี (Physical and chemical quality of groundwater) แบบสมบูรณ์ เพื่อนำไปวิเคราะห์ให้ทราบถึงคุณภาพน้ำบาดาลทั้งทางกายภาพและทางเคมีแบบสมบูรณ์ ทั้งนี้ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำดังกล่าว อ้างอิงตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ยกเว้นในกรณีที่พบสารปนเปื้อนหรือค่าผิดปกติที่จะมีผลต่อชั้นน้ำบาดาลสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลได้ตามความเหมาะสม
                              (2.5) การวิเคราะห์ แปลความหมายและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะในด้านต่างๆ ของชั้นน้ำบาดาลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล
               (3) การก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่
                              ก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 36 แห่ง
               (4) ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการ
                              (4.1) ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการในแต่ละกิจกรรม ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการ

 

4) รูปแบบของโครงการ

                               หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ
                              1. พื้นที่มีความเดือดร้อนจริง
                              2. ท้องถิ่นมีความพร้อมในการมอบพื้นที่ก่อสร้าง
                              3. ท้องถิ่นมีความพร้อมในการรับมอบการบริหารจัดการและดูแลระบบให้ยั่งยืน
                              4. พื้นที่ให้บริการ ขนาดประมาณ  500  ไร่
                              5. จำนวนเกษตรกร ไม่น้อยกว่า  15  ราย
                              6. ศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า  10  ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง/บ่อ

 

5) สถานที่ดำเนินการ

               โดยมีเป้าหมายโครงการเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพน้ำบาดาล ประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อบ่อ เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ตามพื้นที่เป้าหมายเกษตรชุมชนนอกเขตชลประทานหรือพื้นที่หาน้ำยาก ภายใต้รูปแบบที่มีความเหมาะสมต่อสภาพปัญหาและพื้นที่ดำเนินโครงการ จำนวน 36 แห่ง ดังนี้

               (1) บ้านสันผักเฮือด หมู่ที่ 3 ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
               (2) บ้านเขาหินตั้ง หมู่ที่ 2 ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี
               (3) บ้านชุมทหาร หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยคต อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
               (4) บ้านหัวเขา หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
               (5) บ้านโป่งช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี
               (6) บ้านทุ่งตาเงิน หมู่ที่ 11 ตำบลรำมะสัก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
               (7) บ้านพุเลียบ หมู่ที่ 4 ตำบลพุนกยูง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
               (8) บ้านหนองยายโต๊ะ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
               (9) บ้านห้วยเกษียร หมู่ที่ 12 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
               (10) บ้านเนินสวรรค์ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์
               (11) บ้านวังมน หมู่ที่ 3 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
               (12) บ้านสะอาด หมู่ที่ 5 ตำบลกุดธาตุ อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น
               (13) บ้านหนองตูบ หมู่ที่ 10 ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
               (14) บ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 12 ตำบลเอราวัณ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย
               (15) บ้านห้วยนาหลวง หมู่ที่ 6 ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
               (16) บ้านโนนกลาง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
               (17) บ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 9 ตำบลโนนคูณ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
               (18) บ้านคลองยอ หมู่ที่ 3 ตำบลวังทองแดง อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
               (19) บ้านโป่งแก หมู่ที่ 17 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
               (20) บ้านทุ่งโป่ง หมู่ที่ 8 ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
               (21) บ้านตอเกตุ หมู่ที่ 11 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
               (22) บ้านลำพัง หมู่ที่ 1 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
               (23) บ้านเขาภูหีบ หมู่ที่ 5 ตำบลไทยอุดม อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว
               (24) บ้านดอนกลาง หมู่ที่ 3 ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
               (25) บ้านหนองนางด่อน หมู่ที่ 2 ตำบลวังยาง อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม
               (26) บ้านหนองฮังแหลว หมู่ที่ 4 ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร
               (27) บ้านคำแสนสุข หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
               (28) บ้านเชียงกรม หมู่ที่ 14 ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี
               (29) บ้านนาเจริญเหนือ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองเลิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
               (30) บ้านโนนยาง หมู่ที่ 10 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
               (31) บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลนากั้ง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
               (32) บ้านหนองบัว หมู่ที่ 4 ตำบลขุมเงิน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
               (33) บ้านหนองตาใกล้ หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยไร่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
               (34) บ้านป่าศรี หมู่ที่ 3 ตำบลตะโละ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
               (35) บ้านคลองเฉลิม หมู่ที่ 5 ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง
               (36) บ้านสะท้อน หมู่ที่ 1 ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

 

6) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

               6.1) พื้นที่ทำการเกษตรกรรมได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 36 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 18,000 ไร่ มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตรไม่น้อยกว่า 6.9984 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
               6.2) เกษตรกรไม่น้อยกว่า 540 ครัวเรือน มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการเกษตร
               6.3) เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาล ทำให้เกิดการตระหนัก
               6.4) ในคุณค่าของทรัพยากรน้ำบาดาล มีปริมาณน้ำใช้งานเพิ่มขึ้น