วันที่ 3 เมษายน 2566 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "กิจกรรมวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566" โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายน้ำบาดาล รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง บทบาทของน้ำบาดาลในการพัฒนาประเทศและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และนำเสนอผลงานวิชาการน้ำบาดาลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น 4 ประเภท ดังนี้
1) ประเภทสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด
2) ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จำนวน 12 พื้นที่
3) ประเภทกลุ่มผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลภาคเอกชน จำนวน 3 บริษัท
4) ประเภทช่างเจาะน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 12 ราย
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป
ในการนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้ ดร. สุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “การพัฒนาน้ำบาดาล” โดยชี้แจงถึงที่มาของโครงการหลักของสำนักพัฒนาน้ำบาดาล จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 2) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน และ 3) โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน และตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคของประชาชน และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย