ข่าวสารนํ้าบาดาล

ภารกิจ สำนักพัฒนาน้ำบาดาล พร้อมด้วย สำนักงบประมาณ ลงพื้นที่ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 9 ระยอง

  • อัพเดทวันที่ 15 มิ.ย. 66
  • อ่าน 152
  • เผยแพร่โดย นรินทร์ภัทร สสิพรรณ์
Email
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

               นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้ ดร. สุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล พร้อมด้วย นางสาววรีวสยา สินธุเดชะ ผู้อำนวยการกองแผนงาน และนายวิจิตร สดสะอาด ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 ระยอง พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เพื่อเข้าร่วมศึกษาดูงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ในพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมกับ สำนักงบประมาณ ระหว่างวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2566 เพื่อให้สำนักงบประมาณมีความรู้ความเข้าใจบทบาทภารกิจการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยโครงการอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 ระยอง ได้แก่
               1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ (งบกลางปี 2565) โดยคณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับสำนักงบประมาณ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการ ณ บ้านคลองขวาง ตำบลแสลง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรปลูกผลไม้ มังคุด ทุเรียน ลองกอง เงาะ ช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ หลังจากได้รับการสนับสนุนจาก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มมีน้ำเพียงพอกับการทำเกษตรตลอดปี 
               2. โครงการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการส่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยคณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับสำนักงบประมาณ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการ ณ เทศบาลตำบลสนามไชย อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อศึกษาดูการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 
ให้กับ 8 หมู่บ้าน โดยการบริหารจัดการน้ำบาดาลร่วมกับระบบประปาเดิมของเทศบาล
               3. โครงการศึกษาพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยคณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับสำนักงบประมาณ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการ ณ บ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เกษตรกรปลูกยางพารา หลังจากได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นทุเรียนเป็นหลัก แต่ยังไม่ถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจึงดำเนินการเพาะปลูกกล้วย พืชผักสวนครัว ทำให้มีรายได้หมุนเวียนในช่วงรอผลผลิตจากทุเรียน ปัจจุบันสมาชิกกลุ่ม สามารถมีน้ำเพียงพอกับการทำการเกษตรตลอดทั้งปี หากทุเรียนออกผลผลิตกลุ่มเกษตรกรคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น