นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้ ดร. สุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม CA 327 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา โดยมี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งมีประเด็นที่เป็นข้อสำคัญของคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 2 ประเด็น คือ
1) การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อรับมือภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีการดำเนินการหรือไม่
2) การจัดทำแผนงาน/โครงการ มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาหรือไม่ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น อาจมีความต่อเนื่องของความรุนแรง มากกว่า 3 ปี
ในการนี้ ดร. สุทธิพล เอี่ยมประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ร่วมมือกับสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมีมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รับผิดชอบในมาตรการที่ 5 : เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง พร้อมนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดทำ "มาตรการเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล" โดยมีมาตรการ จำนวน 6 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 หน่วยบริการ ศูนย์ปฏิบัติการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
มาตรการที่ 2 การเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชน
มาตรการที่ 3 การแจกจ่ายน้ำ (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 - 19 มิ.ย. 2566) รวมทั้งสิ้นจำนวน 5,280,280 ลิตร
มาตรการที่ 4 การให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาบ่อน้ำบาดาล (ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 - 19 มิ.ย. 2566)
มาตรการที่ 5 การจัดการฐานข้อมูลบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 243,988 บ่อ (ณ วันที่ 15/06/2566)
มาตรการที่ 6 การจัดทำแผนงาน/โครงการ ดังนี้
(6.1) งบประมาณปี 2566 เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร จำนวน 404 แห่ง
(6.2) อยู่ระหว่างเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 (งบกลาง) จำนวน 2,210 แห่ง (จำนวน 7 โครงการ)
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังได้มีการศึกษา และเตรียมความพร้อม เพื่อจัดทำโครงการใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อประชาชน และสร้างแหล่งน้ำเสริมให้แก่สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลต่อไป