ข่าวสารนํ้าบาดาล

โครงการศึกษาศักยภาพและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง

  • อัพเดทวันที่ 15 ก.ย. 66
  • อ่าน 750
  • เผยแพร่โดย นรินทร์ภัทร สสิพรรณ์
Email

1) หลักการและเหตุผลความจำเป็น

               ป่าพรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อวัฏจักรน้ำบาดาลและมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย 1) จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุม 5 อำเภอ คือ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร 2) จังหวัดพัทลุง ครอบคลุมอำเภอควนขนุน และ 3) จังหวัดสงขลา ครอบคลุมอำเภอระโนด รวมพื้นที่ประมาณ 446,220 ไร่ (สำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2557) เป็นป่าที่มีทรัพยากรที่สลับซับซ้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (Biodiversity) มีระบบนิเวศที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหลายประเภท เช่น ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ที่ราบน้ำท่วม หนองน้ำ สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ป่าพรุแต่ละแห่ง มีความเด่นเฉพาะตัว แตกต่างจากระบบนิเวศของป่าประเภทอื่นๆ สภาพทั่วไปของป่าพรุ มีลักษณะคล้ายป่าดงดิบชื้น ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชั้นอายุขึ้นปะปนกันอยู่ตั้งแต่ไม้ชั้นบน ไม้ชั้นรอง ไม้ชั้นล่าง ไม้วัยหนุ่ม และกล้าไม้ โดยพบว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณป่าพรุควนเคร็งทั้งรอบป่าพรุและในป่าพรุ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ปลูกผัก เก็บและสานกระจูด รวมถึงเลี้ยงสัตว์

               อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ยังไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาอย่างละเอียดเพื่อประเมินถึงศักยภาพน้ำบาดาลว่ามีศักยภาพสูงสุดเพียงใดและยังไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของการขุดเจาะและการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำบาดาลลดต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จนทำให้เกิดการหนุนขึ้นของน้ำเค็ม (Upcoming of saline water) หรืออาจเกิดการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้ามาปนเปื้อนในชั้นน้ำบาดาลจืดได้

               ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ฝนตกลดลงและเกิดความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ (ในปี พ.ศ. 2562 ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน ได้เกิดสถานการณ์ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง มากถึง 106 ครั้ง มีพื้นที่เสียหายกว่า 16,220 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 3,000 ไร่ โดยเกิดเหตุมากที่สุดในพื้นที่อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอร่อนพิบูลย์) อีกทั้งสภาพป่าพรุมีลักษณะพื้นดินที่มีการสะสมของเศษซากอินทรียวัตถุเป็นจำนวนมาก เมื่อทับถมเป็นระยะเวลานาน จะกลายเป็นชั้นอินทรียวัตถุปกคลุมหน้าดินทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟป่าลุกลามได้ง่ายและลุกลามทั่วทุกทิศทางยากแก่การควบคุม ซึ่งการเกิดไฟป่าที่ลุกลามในพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง ส่งผลให้กล้าไม้ หญ้าต่างๆ และซากผุพังของพันธุ์พืชและสัตว์ที่ปกคลุมหน้าดินถูกเผาไหม้เป็นควันไฟ ฝุ่นละออง ขี้เถ้าและแก๊สพิษต่างๆ ซึ่งเป็นการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

               ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาศักยภาพน้ำบาดาลทั้งปริมาณน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล รวมถึงศึกษารูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลน้ำบาดาลและรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล สำหรับการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาศักยภาพและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง” โดยการดำเนินการศึกษาข้อมูลทางด้านธรณีวิทยา ธรณีวิทยาสัณฐาน อุทกธรณีวิทยา และข้อมูลบ่อน้ำบาดาล พร้อมทั้งทำการวัดระดับและคุณภาพน้ำบาดาลของบ่อน้ำบาดาลเดิมในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบโครงสร้างทางธรณีวิทยาและข้อมูลอุทกธรณีวิทยาในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง นำไปสู่การประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพน้ำบาดาลทั้งปริมาณน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล รวมไปถึงรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลที่เหมาะสมและสมดุลในบริเวณพื้นที่โครงการ จำนวน 3 แห่ง ซึ่งจากผลการศึกษาดังกล่าว จะทำให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทราบถึงข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง สามารถเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

2) วัตถุประสงค์โครงการ

               (1) เพื่อศึกษาศักยภาพน้ำบาดาลทั้งปริมาณน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล พร้อมผลกระทบจากการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง  
               (2) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 

 

3) กิจกรรม/วิธีดำเนินการ

               กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินงานสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
               (1) สำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามที่เกี่ยวข้อง

               (2) สำรวจพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง เพื่อวางแผนและออกแบบระบบกระจายน้ำบาดาล
               (3) เจาะสำรวจและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเป็นบ่อสังเกตการณ์

               (4) คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการเจาะบ่อผลิตและก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาล

               (5) ก่อสร้างสถานีสังเกตการณ์น้ำบาดาล พร้อมจัดทำรั้วตามมาตรฐานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 1 สถานีต่อพื้นที่ และจัดทำปฏิทินการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและคุณภาพน้ำ
อย่างต่อเนื่อง

               (6) สูบทดสอบปริมาณน้ำด้วยอัตราการสูบคงที่ (Constant-rate Pumping Test)
               (7) เจาะและพัฒนาน้ำบาดาล (บ่อผลิต) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อกรุบ่อ 250 มิลลิเมตร (6 นิ้ว) จำนวนไม่น้อยกว่า 10 บ่อ
               (8) ดำเนินการสูบทดสอบเพื่อหาคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของชั้นน้ำบาดาลที่ความลึกต่างๆ
               (9) ออกแบบขนาดเครื่องสูบน้ำบาดาลในระบบกระจายน้ำบาดาล 
               (10) ดำเนินการก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาล
               (11) ติดตามผลการดำเนินงาน และรวบรวมข้อมูลต่างๆ โดยติดตามตรวจวัดระดับน้ำ ตรวจวัดปริมาณการใช้น้ำบาดาล และเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลจากบ่อผลิตและบ่อสังเกตการณ์เพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล อย่างต่อเนื่อง
               (12) จัดการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีถึงข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่โครงการและรูปแบบระบบกระจายน้ำบาดาล
               (13) สัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล 
               (14) จัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการ

 

4) สถานที่ดำเนินโครงการ

               ดำเนินการในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
                    1) บ้านต้นไทร หมู่ที่ 8 ตำบลควนพนัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
                    2) บ้านขนำเสริฐ หมู่ที่ 2 ตำบลควนพนัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
                    3) บ้านทับแขก หมู่ที่ 10 ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

 

 

5) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

               (1) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทราบถึงศักยภาพน้ำบาดาลทั้งปริมาณน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง สามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               (2) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง
               (3) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถช่วยสนับสนุนการลดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง
               (4) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านการสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 

 

6) ระยะเวลาดำเนินโครงการ

               24 เดือน นับจากวันที่ได้รับอนุมัติแผนปฏิบัติงาน (ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2568)