ข่าวสารนํ้าบาดาล

โครงการศึกษา สำรวจศักยภาพ และการบริหารจัดการน้ำบาดาลแบบผสมผสาน เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร

  • อัพเดทวันที่ 12 พ.ย. 67
  • อ่าน 298
  • เผยแพร่โดย พงศธร เนียมลาภ
Email
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

หลักการและเหตุผล

    ในช่วงปี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการอุปโภค บริโภค จำนวน 1,247 แห่ง ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์ 94,381,370 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และด้านการเกษตรจำนวน 435 แห่ง ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์ 49,542,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการจัดเก็บค่าบริการใช้น้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร ยังไม่อยู่ในกรอบความคิดเดียวกัน (กล่าวคือ น้ำสำหรับอุปโภค และบริโภคจัดเก็บค่าบริการในอัตรา 5 - 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่น้ำเพื่อการเกษตรระบบพลังงานแสงอาทิตย์จัดเก็บค่าบริการในอัตรา 2 - 5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร) ประกอบกับการจัดหาพื้นที่ดำเนินงานโครงการหลายแห่งมีอุปสรรคเรื่องการหาที่ดินเพื่อก่อสร้างระบบ จึงทำให้ในอนาคตการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูง อาจจะต้องดำเนินการโครงการเพื่อตอบสนองการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรแบบควบคู่กันในจุดเดียว โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง และตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการหยุดส่งน้ำของเขื่อนน้ำอูนในช่วงฤดูแล้งน้ำจึงไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร อีกทั้งพื้นที่มีข้อจำกัดด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา โดยพื้นที่ มีชั้นเค็มแทรกอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำผิวดินซึ่งไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และด้านการเกษตร ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซื้อน้ำ อีกทั้งยังประสบปัญหาคุณภาพน้ำที่มีความขุ่นสูงมากอีกด้วย เทศบาลตำบลเชียงเครือจึงขอความอนุเคราะห์มายังสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 (อุดรธานี) ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร

วัตถุประสงค์โครงการ

   1. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบประปาบาดาลและระบบกระจายน้ำ ที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ผลิต เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน 
   2. เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้สำหรับใช้ในการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลแบบผสมผสานให้เหมาะสมกับการอุปโภคบริโภค และการทำเกษตรในรูปแบบต่างๆ ในด้านการช่วยลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อหน่วย ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
(Social Engagement)

เป้าหมายโครงการ

   1. ทราบแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ที่มีขนาดเหมาะสมเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   2. มีหลักสูตรในการบริหารจัดการน้ำบาดาลแบบผสมผสานเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร สำหรับใช้ในการอบรมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลแบบผสมผสาน ให้กับประชาชนทั่วไป เกษตรกร นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม

พื้นที่ดำเนินการ

ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร