ข่าวสารนํ้าบาดาล

โครงการศึกษาศักยภาพและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

  • อัพเดทวันที่ 28 ก.ย. 66
  • อ่าน 115
  • เผยแพร่โดย นรินทร์ภัทร สสิพรรณ์
Email

1) หลักการและเหตุผลความจำเป็น

               อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ที่เสี่ยงวิกฤตเนื่องจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผืนดินและป่ามีความแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชุมชนบริเวณใกล้เคียงและสัตว์ป่า จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายปีย้อนหลัง 5 ปี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำฝนรายปีลดลง 9.1 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำฝนรายปี ย้อนหลัง 5 ปี ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำฝนรายปีลดลง 1,188.01 มิลลิเมตร ส่งให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อสภาพพื้นที่และยังมีแนวโน้มลดลงในช่วงฤดูแล้ง (ช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี) รวมถึงชุมชนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 3,500 คน ยังพบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวนไม่น้อยกว่า 42,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำของสัตว์ป่า ส่งผลให้สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า ออกมาหาอาหารและน้ำในบริเวณพื้นที่ชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลที่ประชาชนในพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงอาจมีความเสียหายระดับรุนแรงถึงชั้นบ้านเรือนเสียหาย และประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
               กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงจัดทำ "โครงการศึกษาศักยภาพและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน" สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล และการสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยดำเนินการสำรวจธรณีฟิสิกส์และประเมินศักยภาพน้ำบาดาล เจาะและพัฒนน้ำบาดาล และออกแบบระบบกระจายน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์น้ำบาดาลให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้โดยมีการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน สามารถสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งหากระบบนิเวศสมดุลมากขึ้น สัตว์ป่าจะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ การบุกรุกของช้างป่าเข้าไปในหมู่บ้านของประชาชนก็จะลดน้อยลง นอกจากนี้ ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืน เพราะหากป่ามีความสมบูรณ์ ชั้นน้ำบาดาลในพื้นที่ก็จะยิ่งมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต

 

2) วัตถุประสงค์โครงการ

               2.1) เพื่อศึกษา สำรวจ และประเมินศักยภาพแหล่งน้ำบาดาล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน  
               2.2) เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

 

3) กิจกรรม/วิธีดำเนินการ

               กรมทรัพยารน้ำบาดาลรับผิดชอบการดำเนินโครงการดังนี้ 

               3.1) ประชุมคณะทำงาน จำนวน 2 ครั้ง จำนวนผู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่า 40 คนต่อครั้ง

               3.2) ศึกษา สำรวจ และประเมินศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน รายละเอียดดังนี้
                    (1) รวบรวมผลการศึกษาที่ผ่านมาและผลการเจาะบ่อน้ำบาดาล ในบริเวณพื้นที่ศึกษาและพื้นที่ข้างเคียง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินแหล่งน้ำบาดาลต้นทุน
                    (2) ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับจังหวัดระดับอำเภอระดับตำบล เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
                    (3) สำรวจธรณีฟิสิกส์บนผิวดิน (Surface Geophysical Investigation) เพื่อหาขอบเขตการแผ่กระจายตัวของหน่วยหินทางอุทกธรณีวิทยา (Boundary of Hydrogeological Units) และลักษณะของชั้นดินชั้นหิน และกำหนดจุดเจาะน้ำบาดาลที่เหมาะสม ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า
ในแนวดิ่ง (Resistivity Survey Method, Vertical Electrical - Resistivity Sounding, VES)  เพื่อแปลความหมายสำหรับการกำหนดตำแหน่งและประมาณการณ์ความลึกของการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวนไม่น้อยกว่า 350 จุด
                    (4) ดำเนินการเจาะบ่อสำรวจ
                         (4.1) เจาะบ่อสำรวจ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 10 บ่อ
                         (4.2) เก็บตัวอย่างดิน - หินทุก ๆ ระยะ 1 เมตร ตลอดความลึกหลุมเจาะ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 บ่อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ชั้นดินชั้นหิน
                    (5) เจาะและพัฒนาบ่อสังเกตการณ์
                         (5.1) เจาะบ่อสังเกตการณ์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 5 บ่อ
                         (5.2) เก็บตัวอย่างดิน-หินทุก ๆ ระยะ 1 เมตร ตลอดความลึกหลุมเจาะจำนวนไม่น้อยกว่า 5 บ่อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ชั้นดินชั้นหิน
                         (5.3) หยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะบ่อสังเกตการณ์ (Geophysical BoreholeLoges) ด้วยเครื่องหยั่งแบบไฟฟ้า (Electic Logs) จำนวนไม่น้อยกว่า 5 บ่อ
                         (5.4) ดำเนินการสูบทดสอบปริมาณน้ำ ระยะเวลา 10 ชั่วโมง หรือสูบจนกว่าระดับน้ำคงที่ต่อเนื่องและทำการวัดระดับน้ำ รวมทั้งคำนวณหาคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของชั้นน้ำบาดาลต่าง ๆ (Hydraulic Properties of Aquifers) จำนวนไม่น้อยกว่า 5 บ่อ
                         (5.5) เก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อผลิต เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำแบบสมบูรณ์ โดยวิเคราะห์คุณภาพทั้งกายภาพและทางเคมี (Physical and Chemical Quality of Groundwater) จำนวนไม่น้อยกว่า 5 บ่อ
                    (6) เจาะและพัฒนาบ่อผลิต
                         (6.1) เจาะบ่อผลิต ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 30 บ่อ
                         (6.2) เก็บตัวอย่างดิน - หินทุกๆ ระยะ 1 เมตร ตลอดความลึกหลุมเจาะ จำนวนไม่น้อยกว่า 30 บ่อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ชั้นดินชั้นหิน
                         (6.3) หยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะบ่อผลิต (Geophysical Borehole Loges) ด้วยเครื่องหยั่งแบบไฟฟ้า (Electric Logs) จำนวนไม่น้อยกว่า 30 บ่อ
                         (6.4) ดำเนินการสูบทดสอบปริมาณน้ำ ระยะเวลา 10 ชั่วโมง หรือสูบจนกว่าระดับน้ำคงที่ต่อเนื่องและทำการวัดระดับน้ำ รวมทั้งคำนวณหาคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของชั้นน้ำบาดาลต่าง ๆ (Hydraulic Properties of Aquifers) จำนวนไม่น้อยกว่า 30 บ่อ
                         (6.5) เก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อผลิต เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำแบบสมบูรณ์ โดยวิเคราะห์คุณภาพทั้งกายภาพและทางเคมี (Physical and Chemical Quality of Groundwater) จำนวนไม่น้อยกว่า 30 บ่อ
                    (7) ประเมินศักยภาพแหล่งน้ำบาดาล ประกอบด้วย ข้อมูลปริมาณสูงสุดที่สูบได้จากการสูบทดสอบ
                    (8) จัดทำป้ายแสดงหมายเลขบ่อสังเกตการณ์และบ่อผลิต
                    (9) จัดทำรั้วรอบบ่อสังกตการณ์และบ่อผลิตน้ำบาดาล
               3.3) คัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างโดยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ/แองกระทะที่เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เมือมีปริมาณน้ำมากเกินความจุแล้วน้ำจะไหลลงไปสู่พื้นที่ลุ่มที่ต่ำลงไปได้ รวมทั้งต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งเกลือหรือสารพิษ เช่น สารหนูอยู่ในบริเวณที่ระดับน้ำท่วมถึง
               3.4) ออกแบบระบบกระจายน้ำบาดาล และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล ที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่
               3.5) ก่อสร้างระบบประปาบาดาลและ ระบบกระจายน้ำบาดาลให้แก่พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ประกอบด้วย
                    (1) ติดตั้งเครื่องเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ที่บ่อผลิตน้ำบาดาล จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ขุด
                    (2) ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า จำนวนไม่น้อยกว่า
                    (3) เครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ขนาด 5 กิโลวัตต์ 380 V.AC จำนวนไม่น้อยกว่า 35 เครื่อง
                    (4) ถังเหล็กเก็บน้ำขนาดความจุ 150 ลูกบาศก์เมตร จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ถัง
                    (5) เครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ขนาด 10 กิโลวัตต์ 380 V.AC จำนวนไม่น้อยกว่า 5 เครื่อง
                    (6) หอถังเหล็กเก็บน้ำขนาดความจุ 1 10 ลูกบาศก์เมตร จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ถัง
                    (7) ชุดเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง ชนิด Vertical multistage 5.5 แรงม้า พร้อมอุปกรณ์ 30 ระบบ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ชุด
                    (8) ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง ชนิด Vertical multistage 5.5 แรงม้า จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ระบบ
                    (9) ถังกรองสนิมเหล็ก จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ถัง
                    (10) สถานีจ่ายน้ำถาวร พร้อมท่อผ้าใบไนล่อนเละอุปกรณ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 สถานี
                    (11) ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลพร้อมอุปกรณ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ระบบ
                    (12) ระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลพร้อมอุปกรณ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ระบบ
                    (13) จุดบริการน้ำดื่มสะอาด จำนวนไม่น้อยกว่า 5 จุด
               3.6) ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานโครงการศึกษาศักยภาพและรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
               3.7) จัดการประชุม ถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งมอบโครงการ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล ให้กับหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่
               3.8) จัดทำรายงานโครงการ และจัดส่งให้กลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่

   

4) สถานที่ดำเนินโครงการ

               ดำเนินการในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
                    1) หน่วยพิทักษ์ป่าชับวัวแดง จังหวัดสระแก้ว
                    2) สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา
                    3) หน่วยพิทักษ์ป่าเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว

               ดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
                    1) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.1 (ป่ายาง)
                    2) หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.5 (ห้วยลึก)

 

 

5) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

               5.1) ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ศึกษา มีน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค และได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืน
               5.2) สามารถฟื้นฟูระบบนิเวตให้มีสภาพที่ดีขึ้น ลดปัญหาข้างป่าออกนอกป่าเพื่อหากินในพื้นที่
เกษตรกรรมของชุมชนที่อยู่ใกล้ชิด ทำให้สัตว์ป่าและชุมขนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

 

6) ระยะเวลาดำเนินโครงการ

               24 เดือน นับจากวันที่ได้รับอนุมัติแผนปฏิบัติงาน (ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2568)