ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง และพัฒนา BCG Model มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบนโยบายให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ศึกษาสำรวจแหล่งน้ำผุดสะอาด จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
นายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะโฆษกกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า จังหวัดมุกดาหารประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี เป็นพื้นที่หาน้ำยาก
ศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ และพื้นที่เสี่ยงน้ำเค็ม ตั้งอยู่ในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน ได้แก่ ชั้นหินคดโค้งรูปประทุนมุกดาหาร และชั้นหินคดโค้ง รูปประทุนหงายนิคมคำสร้อย-ดอนตาล โดยมีแนวการคดโค้งในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงใต้ และบางแห่งเลื่อนขาดออกจากกันทอดตัวแยกออกเป็นสี่แถวลาดไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขง พบหินทราย หินดินดาน หินทรายแป้ง และหินเคลย์ ของกลุ่มหินโคราช (Korat Group) วางตัวเอียงเทกับระดับผิวดิน
จากการตรวจสอบสภาพธรณีวิทยา และสำรวจอุทกธรณีวิทยา พบว่า พื้นที่อำเภอดงหลวง อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร มีน้ำผุด เรียกว่า “contact spring” เกิดจากชั้นแนวต่อระหว่างชั้นหินให้น้ำหินทราย และชั้นหินทึบน้ำหินทรายแป้งและหินเคลย์มาบรรจบกัน ปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลแล้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 8 แห่ง โดยศึกษาปริมาณน้ำ และคุณภาพน้ำผุด ปริมาณน้ำระหว่าง 0.5 - 10 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง คุณภาพน้ำดี อยู่ในเกณฑ์น้ำอุปโภคบริโภค ปริมาณสารละลายทั้งหมด (TDS) ระหว่าง 15 - 300 มิลลิกรัม/ลิตร บางพื้นที่มีสภาพความเป็นกรดและมีสนิมเหล็กเล็กน้อย อนุโลมให้ใช้บริโภคตามมาตรฐานน้ำบาดาลได้ หากมีการปรับค่าความเป็นกรด - ด่าง ให้อยู่ในช่วง 6.5 - 9.2 และลดปริมาณเหล็กให้มีค่าไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/ลิตร มีคุณภาพเป็นน้ำแร่เกลือต่ำ (Low-salt water) ปริมาณโซเดียมค่าน้อยกว่า 20 มิลลิกรัม/ลิตร
*ทั้งนี้ การเลือกดื่มน้ำแร่เกลือต่ำ จะช่วยรักษาระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้ไตทำงานเป็นปกติและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะส่งผลการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลต่อยอดการพัฒนาแหล่งน้ำผุดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นต่อไป
*ที่มา : https://food.ec.europa.eu/safety/labelling-and-nutrition/natural-mineral-waters-and-spring-water_en