ข่าวสารนํ้าบาดาล

ทส. สั่งเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน พื้นที่ บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขากลางดง) จ.นครราชสีมา

  • อัพเดทวันที่ 7 มิ.ย. 67
  • อ่าน 204
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email

     เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 รายการข่าว 3 มิติ ได้เผยแพร่คลิป ที่ถูกบันทึกไว้โดยเจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานในบริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขากลางดง) ว่ามีลักษณะการกระทำที่เป็นการลักลอบปล่อยของเสียลงสู่บ่อดินโดยตรง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 3 - 4 ปีแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงขอความอนุเคราะห์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจาะสำรวจและเก็บข้อมูลบริเวณพื้นที่บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขากลางดง) ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

     พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อห่วงใยว่า กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจและส่งผลกระทบต่อสุขอนามัย รวมทั้งความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการร่วมกัน

     อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม  กรมควบคุมมลพิษและกรมป่าไม้ เข้าตรวจสอบการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขากลางดง) ซึ่งประกอบกิจการผลิตปูนขาว และนำของเหลวที่มีค่าความร้อนสูงมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตปูนขาว โดยบริษัทดังกล่าว มีการรุกล้ำไปในเขตพื้นที่ของกรมป่าไม้ ปัจจุบันศาลมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ โดยผลการตรวจสอบ ดังนี้

     - ภายในบริษัท มีบ่อน้ำบาดาลที่ขออนุญาตใช้น้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ โดยอยู่ในพื้นที่โรงงานจำนวน 1 บ่อ ความลึก 103 เมตร (สถานะยังใช้งาน) และอยู่ในพื้นที่ป่าไม้อีก 1 บ่อ ความลึก 80 เมตร (สถานะไม่ได้ใช้งาน ตัดกระแสไฟ แต่ยังมีตัวบ่อ และยังไม่ได้รื้อถอนเครื่องสูบ) และมีบ่อสังเกตการณ์ จำนวน 3 บ่อ ความลึก 3 - 6 เมตร ไม่มีน้ำทั้ง 3 บ่อ

     - กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการเจาะสำรวจพื้นที่ด้านหลังบริษัท เอกอุทัย จำกัด  ในจุดที่ได้รับข้อมูลว่ามีการปล่อยสารปนเปื้อนลงชั้นใต้ดินโดยตรง พบว่าที่ความลึกตั้งแต่ 2 เมตรลงไป ดินมีกลิ่นเหม็นฉุนสารเคมีรุนแรง และเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลเพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล ในห้องปฏิบัติการ จำนวน 20 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาผลกระทบของการปนเปื้อนในน้ำใต้ดินต่อไป