วันที่ 21 ตุลาคม 2567 นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้นายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล และเจ้าหน้าที่กองแผนงาน ณ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถนนเเจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงในช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติและเร่งฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมมอบนโยบายการบริหารจัดการแม่น้ำโขงให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคนิคและวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก สำหรับการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคี ควบคู่กับการคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงคณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ด้านประมง สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้านเศรษฐกิจ – สังคม เป็นต้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงสอดคล้องกับการดำเนินงานตามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 โดย ในปี 2568 ประเทศไทยจะส่งบุคคลไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว โดยเห็นชอบให้นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เป็นผู้ที่ผ่านเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกระดับภูมิภาคในตำแหน่ง CEO ของ MRCS ต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี จะได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรี ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีฯ ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำและบทบาทในการบริหาร กำกับ และการขับเคลื่อนองค์กร MRC ผลักดันการดำเนินงานต่าง ๆ ให้มีทิศทางที่เกิดความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเข้มแข็งและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด