วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 คณะผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Geological Survey of Japan: GSJ) ศึกษาดูงานโครงการ “พัฒนาพลังงานทดแทนสำหรับปั๊มความร้อนใต้พิภพในประเทศไทย” และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
สืบเนื่องจากความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (Coordinating Committee for Geoscience Programs in East and Southeast Asia: CCOP) สำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Geological Survey of Japan: GSJ) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมทรัพยากรธรณี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาปั๊มความร้อนใต้พิภพ (Ground-Source Heat Pump: GSHP) ในประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยี GSHP เป็นพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น เนื่องจากสามารถปรับอุณหภูมิภายในอาคารให้เย็นหรืออบอุ่นขึ้น แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง โดยใช้หลักการถ่ายเทความร้อนภายในอาคารลงสู่ใต้ดิน และนำความเย็นจากใต้ดินผ่านการไหลของน้ำบาดาลกลับสู่อาคาร โครงการดังกล่าว ได้มีการติดตั้งระบบ GSHP ณ บริเวณห้องขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2556 โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สนับสนุนข้อมูลอุทกธรณีวิทยาและเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ที่ความลึก 50 เมตร