ข่าวสารนํ้าบาดาล

ทส. เร่งจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อรักษาระบบนิเวศและแก้ปัญหาขัดแย้งคนกับสัตว์ป่า

  • อัพเดทวันที่ 29 ส.ค. 60
  • อ่าน 974
  • เผยแพร่โดย DGR Admin กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
Email
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งจัดหาแหล่งน้ำบาดาลในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการใช้น้ำบาดาลรักษาระบบนิเวศป่าไม้ เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ บรรเทาปัญหาไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับสัตว์ป่า 

     สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลง สัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ช้าง เสือ หรือกระทิง ต้องออกมาหากินนอกพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และนำสัตว์ป่ากลับสู่บ้านเกิด โดยการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาเติมให้กับแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวดิน ทำให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่อุทยาน 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน รวมถึงให้ความสำคัญในพื้นที่ที่พบปัญหาไฟป่า เช่น เขตป่าอนุรักษ์พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส

     ในการนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อรักษาระบบนิเวศและสัตว์ป่า เมื่อวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยาน ระหว่างนายสุพจน์  โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งขอบเขตความร่วมมือที่ทั้งสองหน่วยงาน  จะดำเนินการร่วมกันมีดังนี้

     1) ให้ความร่วมมือการดำเนินกิจกรรม พัฒนาระบบนิเวศ แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารในพื้นที่ ของโครงการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อรักษาระบบนิเวศและสัตว์ป่า

     2) ศึกษาเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันจากประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อประกอบการประเมินศักยภาพ การพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ 

     3) ร่วมกันหาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพหรือปรับปรุงแหล่งที่มีอยู่ให้เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนาเบื้องต้น และร่วมกันคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในเขตป่าอนุรักษ์ และอยู่ในความรับผิดชอบของ   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำหรับการศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำพุร้อน เพื่อจัดทำต้นแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่น ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว และพื้นที่อื่นๆ และการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อรักษาระบบนิเวศและสัตว์ป่า อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และบริเวณป่าพรุโต๊ะแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิม  พระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนราธิวาส 

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงการบูรณาการของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสูบน้ำและกระจายน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาจะถูกส่งผ่านท่อลงไปยังแอ่งกระทะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเตรียมไว้ สำหรับน้ำบาดาลส่วนเกินจะล้นและไหลไปเพิ่มความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศโดยรอบ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าที่เคยออกไปหากินนอกพื้นที่ได้กลับเข้าไปอาศัย และดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเช่นเคย ชาวบ้านบริเวณโดยรอบก็จะไม่มีปัญหาขัดแย้งกับสัตว์ป่าอีกต่อไป ส่วนเรื่องการพัฒนานำน้ำพุร้อนขึ้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนให้แก่  โรงผลิตไฟฟ้า โรงอบแห้ง ตลอดจนโรงสปาน้ำแร่ธรรมชาติ จะเริ่มดำเนินการใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ก็เป็นการสร้างพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
 ***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008