ข่าวสารนํ้าบาดาล

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น”

  • อัพเดทวันที่ 29 พ.ย. 60
  • อ่าน 1,349
  • เผยแพร่โดย DGR Admin กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
Email
อัลบั้มภาพ 38 ภาพ

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น” โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (โครงการ อพ.สธ.) และหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริจัดขึ้น ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี ตำบลชำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

     เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08:39 น. ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี ตำบลชำผักแพว อำแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เฝ้าทูลละอองพระบาทเฝ้าฯ รับเสด็จฯ

     การประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2560 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของชมรม คณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการร่วมกันแสวงหาแนวทางสนองพระราชดำริให้เยาวชน ประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับความหลากหลายแห่งศักยภาพของทรัพยากรไทย รวมทั้งยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการประชุมวิชาการและนิทรรศการดังกล่าวจะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี

     โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนทั้ง “ทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา” โดยได้สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ประสานงานความร่วมมือระหว่างโครงการ อพ.สธ. มหาวิทยาลัย โรงเรียน และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาวิชาการ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมหลักสูตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยาพื้นถิ่น ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริประมาณ 200 หน่วยงาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมสนับสนุนในการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่ศักยภาพสูงสุดเพื่อใช้ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ภายใต้โครงการ อพ.สธ. อาทิ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จำปีสิรินธร) ณ บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดสระบุรี  ซึ่งมีพื้นที่เป็นสภาพพรุน้ำจืด จำนวน 141 ไร่ เดิมในพื้นที่มีต้นจำปีสิรินธร จำนวน 517 ต้น แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาพบปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนานความชุ่มชื้นในป่าพรุน้ำจืดลดลง ทำให้ต้นจำปีสิรินธรยืนต้นตายกว่า 50% คงเหลือต้นจำปีสิรินธร จำนวน 225 ต้น ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เร่งเข้าดำเนินการสำรวจทางธรณีวิทยา และเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 3 จุด โดย 2 จุดแรกติดตั้งอยู่บริเวณหัวป่าจำปา และอีก 1 จุด บริเวณสำนักงานสวนป่าจำปีสิรินธร พร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดพร้อมดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ภายในพื้นที่ของโครงการ

     ทั้งนี้ ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วย ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคณะผู้บริหาร เหล่าข้าราชการ พนักงานราชการ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการ “น้ำบาดาล ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชด้วยพลังงานสะอาด” โดยกำหนดจัดแสดงนิทรรศการพร้อมเปิดจุดคลินิกน้ำบาดาลเพื่อให้บริการข้อมูลแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2560 ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี ตำบลชำผักแพว อำแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

 

ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
 ***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008