กลุ่มเกษตรกรบ้านนาผาง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ เดินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ผลิตข้าวอินทรีย์ข้าวหอมมะลิจำหน่ายตลาดนัดสีเขียวปทุมราชวงศา สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรกว่า 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน สร้างคุณภาพชีวิตที่มั่งคั่งและครอบครัวที่มั่นคงให้แก่คนในชุมชน
พื้นที่การเกษตรของบ้านนาผาง ตำบลห้วย อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ครอบคลุมกว่า 132 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 95 ล้านไร่ โดยในอดีตพบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกเป็นอย่างมาก อาศัยแหล่งน้ำในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียว หากในบางปีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ทำให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุน กลุ่มเกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุนในการทำเกษตรกรรม และสร้างปัญหาหนี้สินให้แก่ทุกครัวเรือน แต่ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้มีการพัฒนาฟื้นฟูจัดตั้งเป็น “ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมการผลิตข้าวอินทรีย์ข้าวหอมมะลิ” ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งกลุ่มกิจกรรมที่ทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร หลังจากที่ได้รับการจัดสร้าง “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร รูปแบบ 1” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานโดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 อุบลราชธานี ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างเป็นระบบเชิงรูปธรรม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่มีปริมาณและคุณภาพเหมาะสมแก่การเพาะปลูก โดยเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 10 บ่อ ติดตั้งหอถัง จำนวน 5 หอถัง ก่อสร้างระบบประปาบาดาลและระบบท่อกระจายน้ำตามแปลงเกษตรความยาวกว่า 16 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 500 ไร่
นายธีรวัฒน์ พันธุมาศ เลขานุการกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับการสนับสนุน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” กลุ่มเกษตรกรบ้านนาผาง หมู่ที่ 6 ได้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมการผลิตข้าวอินทรีย์ข้าวหอมมะลิ โดยได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการแนะนำสนับสนุนให้ทำการเกษตรตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งแนะนำการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่กันไปด้วย กลุ่มเกษตรกรจึงได้ร่วมกันทำข้าวอินทรีย์โดยนิยมปลูกข้าวนาปีเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิตามความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรภายในกลุ่มและพื้นที่ใกล้เคียงยังนิยมเพาะปลูกพืชไร่และพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นรายได้เสริมหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์และยังเป็นการพักดินให้อุดมสมบูรณ์ อาทิ ข้าวโพด กล้วย มะละกอ และแตงกวา โดยจะนำไปจำหน่าย ณ ตลาดนัดสีเขียวปทุมราชวงศา ตลาดชุมชน และมีการส่งจำหน่ายผ่านทางไปรษณีย์หรือรูปแบบโลจิสติกส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในตลาดข้าวได้เป็นอย่างดี ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรจำนวนกว่า 150 ครัวเรือน มีรายได้ในแต่ละครัวเรือนเฉลี่ย 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นกว่าเดิม และช่วยลดปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานของคนหนุ่มสาวทำให้ชุมชนรักและสามัคคีพร้อมทั้งสำนึกรักในบ้านเกิด อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาทางสังคมภายในชุมชน อาทิ ปัญหายาเสพติด สุรา การพนัน ปัญหาในวัยรุ่นต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากกิจกรรมปลูกข้าวอินทรีย์ข้าวหอมมะลิและเพาะปลูกพืชไร่พืชสวนต่าง ๆ ยังพบว่าภายในกลุ่มเกษตรกรบ้านนาผาง หมู่ที่ 6 ยังได้มีการต่อยอดปลูกโรงเรือนเพาะเห็ดหลากหลายชนิด อาทิ เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า และในอนาคตจะทำการต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์เชื้อเห็ดเพื่อเพาะเห็ดโคลน ซึ่งมีราคาสูงและมีความต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก รวมทั้งในปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรทำการทดลองนำน้ำบาดาลซึ่งมีความกร่อยเค็มเล็กน้อยตามลักษณะพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ซึ่งถือว่าเป็นกุ้งอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีราคาสูงเทียบเท่ากุ้งล็อบส์เตอร์จากทะเล คาดว่าในอนาคตจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรบ้านนาผางได้อย่างมหาศาลแน่นอน
พร้อมกันนี้ นายบรรจบ บุญแก้วปอม ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 อุบลราชธานี ได้กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เพียงพอและมีความสมดุล โดยให้ยึดหลักเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเน้นใช้พลังงานสะอาดไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 อุบลราชธานี ยังได้นำเสนอการพัฒนาการสูบใช้น้ำบาดาลโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ทดแทนการใช้ไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และช่วยลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย
ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008