สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล มีภารกิจในการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยโดยการจัดทำแบบจำลองการไหลของน้ำ การประเมินอัตราการรุกล้ำของน้ำเค็ม ประเมินปริมาณการสูบที่เหมาะสม ประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะโลกร้อน ภาวะฝนทิ้งช่วง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การทรุดตัวของแผ่นดินตามธรรมชาติ ผลที่ได้จากการศึกษานี้จะสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการควบคุม ป้องกันและลดผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ ทำให้มีระบบข้อมูลที่ใช้สนับสนุนในการตัดสินใจ (Decision.support.system) เพื่อใช้เป็นนโยบายและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่วิกฤตการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ตามแผนปฏิบัติงาน มีกิจกรรม สำรวจอุทกธรณีวิทยา ปรับปรุงและจำแนกชั้นน้ำบาดาลที่ระดับความลึกต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ทันสมัยทั้งด้านการแผ่กระจายตัว ความลึก ความหนา โดยการเจาะบ่อสำรวจและพัฒนาเป็นบ่อสังเกตการณ์ที่ระดับความลึกต่าง ๆ ทำการติดตั้งหมุดหลักฐาน อุปกรณ์วัดการทรุดตัวและการเคลื่อนตัวของชั้นดิน ศึกษาสถานการณ์การรุกล้ำของน้ำเค็ม และจัดทำแบบจำลองเชิงมโนทัศน์ของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อประเมินการรุกล้ำของน้ำเค็ม อัตราการทรุดตัว การประเมินปริมาณการสูบน้ำที่เหมาะสมต่อไป
ในการนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดงานประชุมโครงการศึกษาผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง (ปีที่ 3-4) โดยมีนายบรรจง พรมจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวให้การต้อนรับ ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล-เทศบาล และสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 ราย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรม ไมด้า ทวารวดี จังหวัดนครปฐม
ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008