วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล จัดการประชุมสัมมนาวิชาการน้ำบาดาลด้านอนุรักษ์และฟื้นฟู ภายใต้ "โครงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566" ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทล แอนด์ กอล์ฟ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายพันศักดิ์ ธรรมรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ผู้แทนจากจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวต้อนรับ และมีนายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน (งานทรัพยากรน้ำบาดาล) กล่าวเปิดการประชุม ทั้งนี้มี ดร.ทัศนีย์ เนตรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการประชุม โดยการประชุมสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยายสรุปผลเฝ้าระวัง การเสวนาระดมความคิดเห็น การทดลองตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลประเภทต่างๆ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 150 ราย
สืบเนื่องจากปัญหาขยะมูลฝอยจากชุมชน และของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม ยังมีการลักลอบทิ้ง และกำจัดไม่ถูกวิธีกว่า 2,000 แห่ง คิดเป็น 71.2% ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน และต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการกำหนดเป็น Road Map การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้บรรจุวาระนี้ในแผนยุทธศาสตร์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างน้อยปีละ 22 พื้นที่ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ 2566 ได้คัดเลือกพื้นที่ทิ้งขยะ จำนวน 23 พื้นที่ ครอบคลุม 13 จังหวัด เพื่อติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาล และประเมินสถานการณ์ระดับความรุนแรงของความเสี่ยงการปนเปื้อนสู่ชั้นน้ำบาดาล โดยการสร้างสถานีสังเกตการณ์น้ำบาดาล จำนวน 5 สถานี จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รอบบริเวณพื้นที่ทิ้งขยะ
ผลสรุปของโครงการพบว่ามีพื้นที่ทิ้งขยะ จำนวน 7 แห่ง ที่อยู่ในระดับการปนเปื้อนที่มีความเสี่ยงสูง มีผลกระทบรุนแรง และมีผลต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อโลหะหนัก, สารพิษ, สารอินทรีย์ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย ได้แก่ เทศบาลเมืองท่าโขลง, เทศบาลเมืองพระพุทธบาท, อบต.แก่งเสี้ยน, อบจ.ฉะเชิงเทรา, หจก. สมนึกธุรกิจ จำกัด, บริษัท ลักกี้คลีน จำกัด และบริษัทเอกอุทัย จำกัด (สาขาศรีเทพ) โดยจะมีการแจ้งผลดังกล่าวให้ทราบต่อไป