เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกประจำกรม เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ขอให้ไปตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง โดยพบว่าเป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น และได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดิน คือ นายสมพร โนกลาง ณ บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาดความกว้าง 8 เมตร ความยาว 8.4 เมตร ความลึกประมาณ 2 เมตร ชิ้นส่วนที่พบส่วนมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์กะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร คาดว่ามีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น และพบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Report ทีมนักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง โดยพบว่าตัวอย่างในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา และอัลลิเกเตอร์จีน จากผลการศึกษาวิชัยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทยที่ถูกค้นพบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator Munensis)” หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูลนั่นเอง
ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “อัลลิเกเตอร์มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แตกต่างที่อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ในขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี และเมื่อปิดปากจระเข้จะเห็นฟันทั้งบนและล่าง ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จะเห็นเฉพาะฟันบนหรือแทบไม่เห็นเลย โดยในปัจจุบันพบว่าจระเข้มีหลายสายพันธุ์และพบได้เกือบทั่วโลก ในขณะที่อัลลิเกเตอร์พบเหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น คือ อัลลิเกเตอร์อเมรกาและอัลลิเกเตอร์จีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก แต่อย่างไรก็ตามการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ในอดีตนั้นเคยกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก” นอกจากนี้อาจารย์ยังได้เปิดเผยว่า การตรวจสอบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ในครั้งนี้ได้ขอความอนุเคราะห์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการเข้าเครื่อง CT Scan ในช่วงไม่มีคนไข้ เพื่อให้ได้ภาพสแกนที่มีความละเอียดสูง และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อซากดึกดำบรรพ์ได้นั่นเอง
จากนั้นนายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีวาระสำคัญดังนี้
*ภารกิจการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เน้นการป้องกันก่อนการแก้ไข
*เน้นการกระชับพื้นที่ลงรายละเอียดงานมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้ทุกงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือปัญหาไฟป่า ปัญหา PM.2.5 ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาขยะต้นทาง
*ปัญหาภัยแล้ง มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งเจาะบ่อน้ำบาดาลให้เพียงพอกับความต้องการ โดยมีความต้องการบ่อน้ำบาดาล 10,000 บ่อ แต่กำลังและงบประมาณในการเจาะบ่อน้ำบาดาลมีเพียง 3,000 บ่อ ซึ่งปัจจุบันกำลังขอรับเงินงบประมาณ และกรมทรัพยากรน้ำมอบหมายให้เร่งหาแหล่งน้ำต้นทุนโดยเร่งขุดสระและก่อสร้างระบบกระจายน้ำให้ทันในอีก 6 เดือนที่จะถึงนี้
*ปัญหาขยะจากต้นทาง โดยให้มีการควบคุมลงรายละเอียดของที่มาขยะจากต้นทาง ก่อนที่จะส่งผลกระทบไปสู่ท้องทะเล จนกลายเป็นขยะในทะเล ซึ่งมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการร่วมกัน