ข่าวสารนํ้าบาดาล

“นายกรัฐมนตรี” ลงพื้นที่ต่อเนื่อง  รับฟังปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ที่ ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

  • อัพเดทวันที่ 8 มิ.ย. 67
  • อ่าน 650
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
วันที่ 8 มิถุนายน 2567 เวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางพบปะประชาชนต่อเนื่อง รับฟังปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค ณ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน รวมถึงแผนงานช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  
ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค แหล่งน้ำผิวดินมีความขุ่น มีกลิ่นและมีสารเคมีเกษตรเจือปน ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคได้ ระบบ
ประปาหมู่บ้านที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เจาะน้ำบาดาลที่ความลึกไม่เกิน 120 เมตร มีหินปูน สนิมเหล็ก ฟลูออไรด์ และแมงกานีสจำนวนมาก ทำให้ระบบกรองน้ำและท่อส่งน้ำอุดตันเร็วกว่าปกติ องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำดิบต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนทรายกรองน้ำและท่อประปาภายในหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 450,000 บาทต่อปี แต่ประชาชนในพื้นที่ยังคงต้องใช้น้ำที่มีหินปูนและมีสนิมเหล็กเจือปน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รายงานผลเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล จำนวน 3 บ่อ ให้นายกรัฐมนตรี และคณะ รับทราบ ดังนี้
- บ่อที่ 1 ความลึก 200 เมตร ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง คุณภาพน้ำบาดาลมีฟลูออไรด์เกินเกณฑ์มาตรฐาน (1.2 มิลลิกรัมต่อลิตร)
- บ่อที่ 2 ความลึก 294 เมตร ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง คุณภาพน้ำบาดาล
ใช้บริโภคได้ตามมาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ (ฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร)
- บ่อที่ 3 ความลึก 103 เมตร ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 7 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง คุณภาพน้ำบาดาลมีฟลูออไรด์เกินเกณฑ์มาตรฐาน (2 มิลลิกรัมต่อลิตร)
สำหรับแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยรูปแบบโครงการ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ ขนาด 15 แรงม้า จำนวน 6 บ่อ ถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 750 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ชุด อาคารสูบน้ำและเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ขนาด 20 แรงม้า จำนวน 2 ชุด หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดัน ขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ชุด ถังกรองสนิมเหล็ก จำนวน 2 ชุด สถานีจุดจ่ายน้ำถาวร จำนวน 2 ชุด และจุดบริการน้ำดื่มสะอาด จำนวน 1 ชุด พร้อมวางท่อกระจายน้ำระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 15 หมู่บ้าน เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 3,547 ครัวเรือน หรือ 8,815 คน
ปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 700,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี