กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านสู่นวัตกรรมการเติมน้ำบาดาลระดับตื้น 3 รูปแบบ ได้แก่ การเติมน้ำฝนผ่านบ่อวง เติมน้ำผ่านสระหรือคลองก้นรั่ว และเติมน้ำฝนผ่านหลังคาลงสู่บ่อน้ำบาดาลระดับตื้น ตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่นช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
วันที่ 3 สิงหาคม 2560 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่เติมน้ำบาดาลระดับตื้น ณ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อชมการสาธิตระบบเติมน้ำผ่านบ่อวง (แก้มลิงที่มองไม่เห็น) ของปราชญ์ชาวบ้าน (นายทองปาน เผ่าโสภา) ที่บ้านหนองปลวก ตำบลหนองกุลา และชมจุดก่อสร้างระบบเติมน้ำบาดาลระดับตื้นผ่านบ่อทรายเก่า ที่บ้านคลองวัดไร่เหนือ ตำบลบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง ใน 17 แห่ง ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลคัดเลือกที่จะจัดทำระบบเติมน้ำบาดาลระดับตื้น ทั้งนี้มีผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักให้ความสนใจเข้าร่วมทำข่าว การลดตัวลงของระดับน้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายการทรุดบ่อมากขึ้น นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ในระหว่างการทรุดบ่อน้ำบาดาล และหากยังมีการสูบน้ำบาดาลในปริมาณที่เกินสมดุลย์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นแห้งตัวลงในที่สุดกลายเป็นชั้นน้ำบาดาลตายหรือDead aquifer และจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรกรรม ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัยที่มีมาอย่างช้านาน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีแหล่งน้ำอื่นๆมีเพียงน้ำบาดาลระดับตื้นเท่านั้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการศึกษาทดลองการเติมน้ำโดยคัดเลือกพื้นที่บ้านหนองนา ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาทดลองเติมน้ำเนื่องจากมีความเหมาะสมทางด้านอุทกธรณีวิทยา ดินเหนียวชั้นบนมีขนาดบางน้อยกว่า 3 เมตร ชั้นกรวดทรายระดับตื้นมีความหนาต่อเนื่องประมาณ 10-15 เมตร นอกจากนั้นยังอยู่ใกล้คลองส่งน้ำ โดยมีการก่อสร้างระบบเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลนำร่องในพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ประกอบด้วยระบบผันน้ำ ระบบบึงประดิษฐ์ และระบบเติมน้ำขนาด 1 ไร่ (1,600 ตารางเมตร) พร้อมด้วยระบบติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำบาดาล ถ้าในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการเติมน้ำ จะเกิดผลกระทบดังนี้
1. จะเกิดการขาดแคลนน้ำบาดาลระดับตื้น เพื่อนำมาใช้การเกษตรกรรม เนื่องจากน้ำบาดาลที่กักเก็บลดลงอันเนื่องจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่เกินสมดุล
2. ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากระดับบาดาลมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการสิ้นเปลืองพลังงานในการสูบน้ำมาใช้มากขึ้น
3. การลดลงของชั้นน้ำบาดาลทำให้เกษตรกรต้องทำการทรุดบ่อน้ำบาดาลให้มีระดับลึกมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาลทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างการทรุดบ่อน้ำบาดาล
ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008