ข่าวสารนํ้าบาดาล

“SMART TUNNEL อุโมงค์ฉลาด ต้นแบบนวัตกรรมอัจฉริยะ ต่อยอดสู่แนวคิดการเติมน้ำใต้ดิน”

  • อัพเดทวันที่ 26 มี.ค. 67
  • อ่าน 147
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
     น้ำบาดาลเก็บมาเล่า  วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จัก “SMART TUNNEL อุโมงค์ฉลาด ต้นแบบนวัตกรรมอัจฉริยะ ต่อยอดสู่แนวคิดการเติมน้ำใต้ดิน” เมื่อครั้งที่ MR.บาดาล มีโอกาสไปศึกษาดูงานจากการประชุมกรอบภูมิภาค คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานด้านอุทกวิทยาของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 30 (The 30th Regional Steering Committee Meeting for Southeast Asia and the Pacific) ณ เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ก็ทำให้นึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ตอนนั้นประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งรุนแรง มีพื้นที่ประสบภัยทั่วทุกภูมิภาคส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก หากย้อนเวลากลับไปประเทศไทยมี SMART TUNNEL หรืออุโมงค์ฉลาดในวันนั้น อาจจะป้องกันเหตุหรือบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
     สำหรับ SMART TUNNEL หรืออุโมงค์ฉลาด ถือเป็นนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำ และแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ ทำหน้าที่เป็นมอเตอร์เวย์ระบายรถและระบายน้ำในคราวเดียวกัน โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง เพื่อระบายน้ำในการป้องกันน้ำท่วมเมืองแบบ 100% และสำหรับช่วงเวลาอื่นจะถูกจัดสรรให้เป็นเส้นทางจราจรเพื่อลดการติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน  นอกจากนี้ยังมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบนผิวดินตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองแบบ Real Time เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำ พร้อมติดตั้งเซ็นเซอร์ที่คลองระบายน้ำตลอดแนว เพื่อทำการตรวจวัดระดับน้ำ และพยากรณ์เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
 
     ในอนาคตประเทศไทยอาจจะมีการนำแนวคิด SMART TUNNEL อุโมงค์ฉลาด มาประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับสภาพทางภูมิศาสตร์และบริบทของประเทศ โดยนำมาผสมผสานกับแนวคิด “การเติมน้ำใต้ดิน” เพื่อนำน้ำที่ผ่านการระบายไปกักเก็บในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน และนำน้ำกลับมาใช้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลน เช่น พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นในช่วงเทศกาลสำคัญ และยังเป็นพื้นที่รับน้ำจากตอนเหนือก่อนลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง หากมีการสร้าง SMART TUNNEL อุโมงค์ฉลาดก็จะสามารถระบายน้ำที่ไหลจากภาคเหนือสู่บ่อเติมน้ำใต้ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาจากอุทกภัยได้ทันท่วงที และยังเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในสถานการณ์ภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง.........