คำถามที่พบบ่อย

1. ถ้าเจาะบ่อน้ำบาดาลความลึกไม่ถึง 30 เมตรแต่มีขนาดบ่อใหญ่ตั้งแต่ 4 นิ้ว ขึ้นไป และปริมาณการใช้น้ำมากเกินกว่า 10 ลบ.ม. / วัน จะถือว่าใช้น้ำบาดาลหรือไม่ ต้องขออนุญาตหรือไม่?

ตอบ : ปัจจุบันหลักเกณฑ์ความลึกของบ่อน้ำบาดาล ที่กำหนดเกินกว่า 15 เมตร เกินกว่า 20 เมตร หรือความลึกเกินกว่า 30 เมตร ได้ถูกยกเลิกแล้ว ตามประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนด เขตน้ำบาดาลและความลึกของน้ำบาดาล พ.ศ. 2554 ที่กำหนดให้ท้องที่ของแต่ละจังหวัด ในราชอาณาจักรไทยเป็นเขตน้ำบาดาล และให้น้ำบาดาลที่อยู่ลึกจากผิวดินลงไปเกินกว่า 15 เมตร เป็นน้ำบาดาลส่วนขนาดบ่อหรือการใช้น้ำบาดาล หากบ่อน้ำบาดาลนั้นๆ มีความลึก เกินกว่า 15 เมตร จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย

2. บ่อน้ำที่เจาะไม่ถึงความลึกของน้ำบาดาลตามประกาศกระทรวงฯ เรื่องกำหนดเขตน้ำบาดาล และความลึกของน้ำบาดาล พ.ศ. 2554 เทศบาล/อบต. จะต้องดำเนินการอย่างไร?

ตอบ : หากการเจาะนั้นมีความลึกไม่เกินกว่าที่กำหนด ถือว่าไม่เป็นบ่อน้ำบาดาลตามประกาศ กระทรวงดังกล่าว

3. เทศบาล/อบต. เจาะบ่อน้ำบาดาลสำหรับใช้ในเขตรับผิดชอบของตนเองต้องขออนุญาต หรือไม่?

ตอบ : สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขตทุกเขต ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถให้บริการ ด้านการเจาะน้ำบาดาลได้หาก อบต. ใดต้องการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าดำเนินการ สามารถติดต่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหรือ สทบ. เขต ในพื้นที่ได้โดยตรง

4. ในกรณีที่ทาง อบต. (ท้องที่จังหวัดเชียงใหม่) ทำโครงการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ แต่ไม่มีผู้รับจ้างเข้ามาประมูลงาน (ตั้งแต่ปี 2552) ทางสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 (ลำปาง) มีหน่วยงานที่จะมาขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้ได้หรือไม่?

ตอบ : สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขตทุกเขต ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถให้บริการ ด้านการเจาะน้ำบาดาลได้หาก อบต. ใดต้องการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าดำเนินการ สามารถติดต่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหรือ สทบ. เขต ในพื้นที่ได้โดยตรง

5. กรณีผู้เจาะบ่อน้ำบาดาลโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตเจาะกับทางสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต หรือท้องถิ่นควรทำอย่างไร เนื่องจากมีการใช้น้ำเรียบร้อยแล้ว?

ตอบ : กรณีบ่อน้ำบาดาลที่เจาะไปแล้ว ภายหลังตรวจพบว่าไม่ได้ขออนุญาตเจาะน้ำบาดาล จะต้องดำเนินคดี โดยการบันทึกเปรียบเทียบคดีความผิดตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติ น้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ฐานเจาะน้ำบาดาล โดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นต้องแจ้งให้ ผู้กระทำความผิดขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลให้ถูกต้องต่อไป

6. ในกรณีขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลสาธารณะของเทศบาลแต่ไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตตาม ขั้นตอน เทศบาลต้องดำเนินการขออนุญาตเจาะและขออนุญาตใช้น้ำหรือไม่?

ตอบ : ก่อนการเจาะน้ำบาดาล เทศบาล/อบต. จะต้องขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ให้ถูกต้องก่อน และเมื่อเจาะเสร็จแล้วก็ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลอีกครั้งหนึ่ง มิฉะนั้น จะมีความผิดฐานประกอบกิจการน้ำบาดาลโดยมิได้รับอนุญาต ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520

7. การเจาะน้ำบาดาลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเจาะน้ำบาดาลแล้วพบว่าเป็นน้ำเค็มจะทำอย่างไร?

ตอบ : เนื่องจากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยเป็นทะเลมาก่อน) มีแหล่งเกลือหิน (แร่โปแตช) ที่อยู่ใต้พื้นดินเป็นจำนวนมหาศาลในพื้นที่หลายจังหวัด ในพื้นที่ใกล้เคียง อาจจะมีแหล่งเกลือหินขนาดเล็กๆ เมื่อมีน้ำใต้ดินไหลผ่านจึงละลายเป็นน้ำเค็มบ้าง น้ำกร่อยบ้าง กระจายอยู่ทั่วไปเป็นหย่อมๆ เราอาจเรียกแหล่งน้ำเค็มเหล่านี้ว่า "กะเปาะ น้ำเค็ม" ถ้าเจาะน้ำบาดาลลงไปในบริเวณที่เป็นกะเปาะน้ำเค็ม ก็จะได้น้ำเค็ม ดังนั้น การเจาะน้ำบาดาล ควรจะปรึกษาช่างเจาะน้ำบาดาล วิศวกรหรือนักธรณีวิทยา ที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพราะจะสามารถรู้ข้อมูลว่าในพื้นที่ใด มีน้ำเค็มอยู่ในระดับความลึกเท่าใด มีน้ำจืดอยู่ในระดับความลึกเท่าใด พื้นที่บางแห่ง น้ำจืดอยู่ใต้น้ำเค็มลึกลงไปก็มี และการเจาะน้ำบาดาลผ่านน้ำเค็มลงไปยังน้ำจืดที่อยู่ข้างล่าง จะต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์การสร้างบ่อที่ทนทานการกัดกร่อนของน้ำเค็ม และต้องใช้เทคนิค อย่างสูงในการเจาะน้ำบาดาลดังกล่าว การเจาะน้ำบาดาลนั้น กฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าเจาะน้ำบาดาล แล้วไม่ได้น้ำบาดาล (เจาะแล้วไม่มีน้ำ น้ำมีน้อยไม่เพียงพอ หรือได้น้ำเค็ม) ให้อุดกลบบ่อ น้ำบาดาลนั้นให้มีสภาพเหมือนเดิม เพื่อป้องกัน รักษา ไม่ให้น้ำสกปรก น้ำบนดินที่ผสมปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือทิ้งขยะ ฯลฯ ลงไปในบ่อ จะทำให้ซึมลงไปในแหล่งน้ำบาดาล ทำให้ แหล่งน้ำบาดาลเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น เมื่อเจาะน้ำบาดาลแล้วพบว่าเป็นน้ำเค็ม จึงต้องอุดกลบบ่อน้ำนั้นด้วย

8. บ่อน้ำบาดาลของเอกชนที่มีอยู่เดิมจะต้องให้มาขออนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่มาขออนุญาต จะทำอย่างไร?

ตอบ : เทศบาล/อบต. ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเป็นมาและ ความสำคัญของทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนมีสิทธิที่จะนำ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่การใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลโดยไม่ถูกต้อง ใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือใช้ผิดวิธี จะเกิดผลกระทบ (มลภาวะ) ต่อแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งจะทำให้คุณภาพของ น้ำบาดาลเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่เหมาะที่จะนำมาใช้อุปโภคบริโภค ดังนั้น กฎหมาย น้ำบาดาลจึงควบคุมการใช้น้ำบาดาลโดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลอย่างประหยัด พอเพียง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาล โดยไม่ขาดแคลน ดังนั้น ถ้าประชาชนมีบ่อน้ำบาดาลใช้อยู่ก่อนแล้ว จะต้องใช้น้ำบาดาล อย่างประหยัด ระมัดระวัง อนุรักษ์น้ำบาดาลดังกล่าว และหากบ่อน้ำบาดาลนั้นเข้า องค์ประกอบของกฎหมายน้ำบาดาล คือ มีความลึกจากผิวดินลงไปเกินกว่า 15 เมตร ต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตใช้น้ำบาดาลก่อนจึงจะใช้น้ำบาดาลได้ หากไม่มาขอ อนุญาตใช้น้ำบาดาล จะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายน้ำบาดาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หกเดือนหรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง ท่าน รมว.ทส. ได้ลงนาม แต่งตั้ง ให้เจ้าหน้าที่ของ เทศบาล/อบต. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ น้ำบาดาล มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ การเจาะน้ำบาดาล การใช้น้ำบาดาล โดย ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งก่อนถ่ายโอนภารกิจ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะจัดฝึกอบรม เรื่องน้ำบาดาล เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้มีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานและการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม เทศบาล/อบต. อาจต้องใช้เวลาในการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปกับ การบังคับใช้กฎหมายน้ำบาดาล การที่จะให้ประชาชนมาขออนุญาต อาจจะเกิดปัญหา ความไม่พึงพอใจบ้างแต่ก็มีความเห็นว่า ควรเริ่มต้นจากตัวของเรา หรือญาติของเรา ที่มีบ่อน้ำบาดาลมาก่อนให้มาขออนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล โดยทำเป็นตัวอย่าง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจตระหนักใน คุณค่าและความสำคัญของน้ำบาดาล และถ้าเริ่มต้นแนะนำให้มาขออนุญาตได้ 1 คน คนที่ 2 3 .... ให้มาขออนุญาต คงจะสำเร็จได้ไม่ยากเกินไป

9. บ่อน้ำบาดาลที่ทราบความลึกที่ต้องการจะเจาะว่าไม่ถึงชั้นน้ำบาดาลจำเป็นต้องขอรับใบอนุญาตหรือไม่?

ตอบ : บ่อน้ำบาดาลทุกบ่อต้องขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลก่อนทุกบ่อ เว้นแต่มีเจตนาชัดเจนว่า เจาะไม่ถึงชั้นน้ำบาดาลตามกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องขอรับใบอนุญาต

จำนวนทั้งหมด 9 รายการ