ข่าวสารนํ้าบาดาล

น้ำบาดาลชุบชีวิตเกษตรกรอำเภอบ้านไร่

  • อัพเดทวันที่ 16 มี.ค. 63
  • อ่าน 1,122
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

          นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า  มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เคยตกเป็นปกติถึง 1,500 มิลลิเมตรต่อปี จะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเพียง 800 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น และปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 22 จังหวัด ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีก็เป็น 1 ใน 22 จังหวัดดังกล่าว ที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง  ซึ่งภาพรวมของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประจำปีงบประมาณ 2563 มีแผนเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 2,029 แห่ง คิดเป็นจำนวนบ่อน้ำบาดาลรวม 2,188 บ่อ ขณะนี้ได้ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลเสร็จสิ้นไปแล้ว จำนวน 680 บ่อ รวมโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ คงเหลืออีกจำนวน 1,508 บ่อ ซึ่งเมื่อทุกโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นหมดเรียบร้อยแล้ว จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 296,872 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 63,200 ไร่ และจะมีปริมาณน้ำรวมไม่น้อยกว่า 206 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

          นายวิทยา  มีนิสัย ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลัง งานแสงอาทิตย์ ว่า ประชาชนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของตำบลบ้านใหม่คลองเคียน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอยู่นอกเขตชลประทาน มีลำห้วยเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ 3 สาย ได้แก่ ลำห้วยคลองเคียน ลำห้วยคตและลำห้วยคลองตะขาบ แต่เกษตรกรยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอยู่เป็นประจำ สามารถเพาะปลูกพืชได้เพียง 1 รอบต่อปี ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตทำให้เกิดหนี้สิน การจัดสรรแหล่งน้ำเพิ่มเติมจึงเป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม

          อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นการขุดน้ำบาดาลจำนวน 1 บ่อ ที่ความลึก 70 เมตร ปริมาณน้ำ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ระดับน้ำปกติ 5.6 เมตร ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สูบขึ้นไปเก็บไว้บนถังเหล็กเก็บน้ำที่ความสูง 20 เมตร ความจุ 20 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยน้ำลงมาตามท่อพีวีซี ขนาด 3 นิ้ว และ 2 นิ้ว ที่ฝังอยู่ใต้ผิวดินรวม 2 กิโลเมตร เข้าสู่แปลงเกษตร รวม 10 แปลง จำนวน 250 ไร่  โดยพืชส่วนใหญ่จะเป็น อ้อย มันสัมปะหลังและผักสวนครัว จากนั้นเกษตรกรจะต่อท่อเพื่อนำน้ำไปใช้ในแปลงของตัวเองตามคิวที่แจ้งไว้กับผู้นำชุมชน

          ด้าน นายประเชิญ วิปสิทธิ์  เกษตรกรในพื้นที่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีที่ดินอยู่ 3 ไร่ โดยเมื่อก่อนช่วงแล้งจะไม่ได้ปลูกพืชอะไรเนื่องจากไม่มีน้ำ รายได้ไม่แน่นอน มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาเจาะน้ำบาดาลให้จึงทำให้มีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก หันมาปลูกมะระจีน โดยจะปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1.30-1.50 เมตร ระยะระหว่างแถวประมาณ 2 เมตร เมื่อต้นมะระทอดยอดขึ้นไปบนค้างแล้วจะไม่แน่นมากเกินไป เมื่อมะระอายุได้ประมาณ 45 วัน จะเริ่มเก็บผลได้ สามารถเก็บผลมะระขายได้ 2 วัน 1 ครั้ง ครั้งละ 500 กิโลกรัม โดยขายในกิโลกรัมละ 20 บาท ถ้าปล่อยให้ผลแก่ติดกับต้นจะทำให้ผลไม่ดก ผลจะร่วงมาก มักนิยมเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ ผลมีสีเขียว ถ้าผลเปลี่ยนเป็นสีครีมและแตก แสดงว่าแก่เกินไป ซึ่งในผลแก่นี้จะมีเมือกสีแดง หุ้มเมล็ด แสดงว่าเมล็ดนี้แก่เต็มที่ สามารถเอาไปปลูกแล้วงอกได้ ปัจจุบันสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้และไม่มีหนี้สิน