ข่าวสารนํ้าบาดาล

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการศึกษาทดลองเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น

  • อัพเดทวันที่ 8 พ.ย. 60
  • อ่าน 997
  • เผยแพร่โดย DGR Admin กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
Email
อัลบั้มภาพ 27 ภาพ

     เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการศึกษาทดลองเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น บ้านหนองจอก ตำบลนางลือ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โดยมี ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยาน้ำบาดาล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมคณะผู้บริหาร นายชวพล พันธุมรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายยุทธพร พิรุณสาร นายอำเภอเมืองชัยนาท และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชัยนาทให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ

     พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การศึกษาดูงานโครงการศึกษาทดลองเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น บ้านหนองจอก ตำบลนางลือ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งนี้พบว่าโครงการประสบความสำเร็จสามารถนำบ่อน้ำบาดาลที่ไม่ได้ใช้งานมาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดินที่ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และต้องการให้รัฐบาลนำโครงการนี้ไปขยายผลในการใช้เป็นแผนบริการจัดการน้ำทั้งระบบของภาครัฐ

     ทั้งนี้บ้านหนองจอกเป็นหมู่บ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำทุกปี เกษตรกรเจาะน้ำบาดาลระดับตื้นหรือที่ความลึกประมาณ 14 - 20 เมตร เพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้ในการทำนาจนประสบปัญหาระดับน้ำบาดาลลดลง จนเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่งที่ใช้อยู่ไม่สามารถใช้การได้บ่อวงเดิมจึงถูกทิ้งร้าง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการศึกษาทดลองเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเพื่อนำน้ำฝนหรือน้ำท่วมหลากลงไปกักเก็บในชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น เกษตรกรสามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ในช่วงฤดูแล้งโดยใช้แนวทางการเติมน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการผ่านการกรองและระมัดระวังการปนเปื้อนซึ่งแนวทางการปฏิบัติงานจะส่งเสริมให้เกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการศึกษาวิธีการ เพื่อขยายผลการศึกษาในอนาคตต่อไป

 

ที่มาและภาพข่าวโดย : กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม
 ***หากต้องการภาพถ่ายหรือเนื้อหาข่าวต้นฉบับเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมอื่นๆ กรุณาติดต่อ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม โทรศัพท์ : 0 2666 7008