ข่าวสารนํ้าบาดาล

อธิบดีกรมน้ำบาดาล เร่งเดินหน้า “เติมน้ำใต้ดิน” หวังแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ สกลนคร และนครพนม

  • อัพเดทวันที่ 30 ก.ค. 65
  • อ่าน 485
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email
อัลบั้มภาพ 28 ภาพ

     วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วย นายชานน วาสิกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายนเรศ ชมบุญ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร จ่าสิบเอก คำนึง พรหมพิมพ์ นายอำเภอเมืองสกลนคร นางสาวสุภาวดี ตระกูลศรสูรย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ ร่วมพิธีเปิดโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ณ สระเติมน้ำบ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 

     กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ได้ดำเนินโครงการศึกษาและทดสอบการเติมน้ำใต้ดิน ผ่านระบบสระเติมน้ำและบ่อวงคอนกรีต ซึ่งได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน โดยใช้ข้อมูลธรณีฟิสิกส์ ข้อมูลการเจาะทดสอบดิน ข้อมูลการเจาะบ่อสังเกตการณ์ ข้อมูลอัตราการซึมได้ของชั้นดิน และข้อมูลสำรวจรังวัดพื้นที่ หลังจากนั้นจึงดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามขั้นรายละเอียด เพื่อออกแบบและการก่อสร้างระบบสระเติมน้ำ จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 2) บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม และ 3) บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม 

     จากผลการศึกษาของแต่ละพื้นที่พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นต่อปีได้มากกว่า 50,000 ลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ 1) บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 112,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 308 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และน้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,805 เมตร ในเวลา 10 ปี พื้นที่ 2) บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 107,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 294 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออก และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 525 เมตร และพื้นที่ 3) บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 58,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,266 เมตร ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำบาดาลระดับตื้นในฤดูแล้ง และช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในฤดูฝน สร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร และนครพนมอย่างยั่งยืน  

     ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ดำเนินการทั้ง 3 แห่ง ได้มีส่วนร่วมกับโครงการมาโดยตลอด และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเร่งศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลของโครงการในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศอีกด้วย