กรุณากรอกฟอร์มให้ครบถ้วนเพื่อแจ้งคำถาม
หน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สามารถตรวจสอบขั้นตอนจาก https://gdf.dgr.go.th/ เลือกหัวข้อ “กฎระเบียบข้อบังคับหน่วยงาน” > “คู่มือ”
สำหรับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลได้ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างจัดทำประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลแก่หน่วยงานราชการ
1. เมื่อเจาะน้ำบาดาลแล้วไม่ได้น้ำบาดาล (เจาะแล้วไม่มีน้ำ น้ำมีน้อยไม่เพียงพอ หรือได้น้ำเค็ม)
ก็อาจให้เจาะลึกลงไปอีกได้ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
2. ถ้าเจาะน้ำบาดาลแล้วพบว่าเป็นน้ำเค็ม และไม่สามารถนำมาใช้ได้ ต้องดำเนินการอุดกลบบ่อน้ำบาดาล
ตามกฎหมาย แล้วให้สำรวจจุดเจาะน้ำบาดาลใหม่เพื่อที่จะดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาลต่อไป
พื้นที่บางพื้นที่เจาะน้ำบาดาลพบน้ำเค็ม ทั้งที่บริเวณใกล้เคียงมีแหล่งน้ำจืด เนื่องจากในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นน้ำทะเลมาก่อน มีแหล่งเกลือหิน (แร่โปแตช) ที่อยู่ใต้พื้นดินเป็นจำนวนมาก เมื่อมีน้ำใต้ดินไหลผ่านจึงละลายเป็นน้ำเค็มบ้าง น้ำกร่อยบ้าง กระจายอยู่ทั่วไปเป็นหย่อม ๆ เราอาจเรียกแหล่งน้ำเค็มเหล่านี้ว่า “กะเปาะน้ำเค็ม” เช่น พื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น ถ้าเจาะน้ำบาดาลลงไปในบริเวณที่เป็นกะเปาะน้ำเค็มก็จะได้น้ำเค็ม ในการนี้ ก่อนดำเนินการเจาะน้ำบาดาลในบริเวณนั้น ๆ ให้ผู้ประสงค์จะเจาะ
และใช้น้ำบาดาล ปฏิบัติ ดังนี้
1. ดูข้อมูลจาก เวปไซต์ www.dgr.go.th (หน้าบริการประชาชน) ทั้งนี้ เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับน้ำบาดาล
ที่สามารถสูบได้จากบ่อน้ำบาดาล คุณภาพจากบ่อน้ำบาดาลในบริเวณนั้น
2. สอบถามข้อมูลจากช่างเจาะน้ำบาดาล วิศวกร หรือนักธรณีวิทยาผู้ควบคุมรับผิดชอบในการเจาะ
น้ำบาดาลที่ได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
3. ติดต่อผู้ชำนาญการเพื่อสำรวจสภาพน้ำบาดาลในบริเวณนั้นด้วยเครื่องหยั่งธรณี (Well logger)
การเจาะบ่อน้ำบาดาลใกล้ที่ดินข้างเคียงที่มีบ่อบาดาลอยู่แล้ว เบื้องต้นควรยึดหลักห่างกันให้มาก เพื่อป้องกันการแย่งน้ำของบ่อน้ำบาดาล โดยเฉพาะในเขตที่แหล่งน้ำบาดาลไม่สมบูรณ์ (มีศักยภาพน้ำบาดาลต่ำ) และความต้องการใช้น้ำบาดาล มีข้อควรสนใจ คือ ถ้าบ่อน้ำบาดาลที่มีอยู่ยิ่งลึกมากขึ้นเท่าไหร่ บ่อใหม่ก็ควร
เจาะห่างมากขึ้นผันแปรตามความลึก เช่น บ่อน้ำบาดาลที่มีความลึกเกิน 100 เมตร บ่อควรห่างอย่างน้อย 100 เมตร ทั้งนี้ หากอยู่ในเขตแหล่งน้ำบาดาลไม่สมบูรณ์มาก ๆ ก็ต้องยิ่งเจาะให้ห่างเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อป้องกันการแย่งน้ำ นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ ได้แก่
- สภาพบ่อน้ำบาดาลปัจจุบันเป็นเช่นใด ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตหรือมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่
- ขนาดบ่อที่ใช้งานปัจจุบัน และบ่อที่กำลังจะเจาะใหม่ เพื่อให้ทราบปริมาณสูบจ่ายน้ำบาดาลสูงสุด (ลบ.ม./วัน) และประสิทธิภาพของบ่อน้ำบาดาลที่จะอนุญาต
- ศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่และปริมาณการใช้น้ำที่ต้องการ เช่น การใช้เพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน
ใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม งานบริการลูกค้าในสถานประกอบการประเภทต่างๆ หรือ
การใช้เพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลกำหนดปริมาณน้ำที่อนุญาตตามความจำเป็นและเหมาะสม
- คุณภาพน้ำบาดาล เพื่อให้ทราบความเหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน
- ผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
***อย่างไรก็ตาม การออกใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล จะพิจารณาตามระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณา
ออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ. 2560 บ่อน้ำบาดาลที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจึงสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลข้างเคียง สิ่งแวดล้อม
และสุขภาพ
การคิดราคาค่าเจาะบ่อน้ำบาดาลมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. ขนาดของบ่อน้ำบาดาล เช่น 4 นิ้ว, 6 นิ้ว, 8นิ้ว
2. ชนิดของท่อกรุบ่อน้ำบาดาล เช่น PVC หรือเหล็ก
3. ความลึกของบ่อบ้ำบาดาล
4. ขนาดของเครื่องสูบน้ำ คือปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ หรือปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้
***ราคาขึ้นอยู่กับการตกลงกับบริษัทเจาะบ่อน้ำบาดาลตามองค์ประกอบที่ต้องการ
ปัญหาของบ่อน้ำบาดาลหลังจากการใช้งาน
1. ระดับน้ำปกติลดลง หลังจากที่มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลเสร็จแล้ว และใช้งานได้ในระยะหนึ่ง (อาจจะ 1 ปี หรือมากกว่า) ระดับน้ำปกติในบ่อน้ำบาดาลอาจจะลดลง จะมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้น้ำบาดาล การลดลงของระดับน้ำบาดาลจะส่งผลต่อเครื่องสูบน้ำบาดาล หากระดับน้ำลดลงมากๆปริมาณการสูบของเครื่องสูบน้ำอาจลดลง หรืออาจทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหายได้ถ้าหากระดับน้ำขณะสูบต่ำกว่าเครื่องสูบน้ำ
2. ปริมาณน้ำเข้าบ่อน้ำบาดาลลดลง เนื่องมาจากตะกอนทรายที่ไหลผ่านกรวดกรุ เข้ามาในบ่อน้ำบาดาล
ในขณะที่ทำการสูบ และตกลงไปอยู่ในท่อรับทรายจนเต็มท่อรับทรายและเลยท่อรับทรายเข้าไปในท่อกรอง ทำให้น้ำไหลเข้าท่อกรองน้อยลง ปริมาณน้ำเข้าบ่อลดลง
3. การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลต้องกระทำด้วยควาระมัดระวัง การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลเป็นการดูดเอาตะกอนที่ตกอยู่ในบ่อรับทรายให้หมด โดยการลงท่อดูดไปจนถึงท่อรับทราย การเป่าล้างบ่อหากมีทรายเข้ามามากๆ ควรเปลี่ยนวิธีการเป่า ตามหลักการพัฒนาบ่อน้ำบาดาล
การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะทางกายภาพและทางเคมี มีขั้นตอนดังนี้
1) การเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำบาดาล จะต้องสูบน้ำทิ้งอย่างน้อย 15 นาที ก่อนเก็บตัวอย่างน้ำ
2) ภาชนะที่ใช้เก็บตัวอย่าง ควรเป็นขวดแก้วหรือขวดพลาสติกที่สะอาด
3) ล้างทั้งขวดและฝา ด้วยตัวอย่างน้ำที่จะเก็บประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วเก็บให้เต็มขวดปริมาณไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตร
4) เขียนฉลากปิดข้างขวด มีรายละเอียดดังนี้
- หมายเลขบ่อน้ำบาดาล / ใบอนุญาตเจาะบ่อน้ำบาดาล / พิกัด
- สถานที่ตั้ง
- ความลึกของบ่อ
- ชื่อผู้เก็บตัวอย่างน้ำ
- วันที่เก็บตัวอย่างน้ำ
5) นำส่งวิเคราะห์
แนวทางการอนุญาตสถานที่ผลิตน้ำแร่ธรรมชาติ ต้องประกอบด้วย รายงานการตรวจสอบแหล่งน้ำบาดาล ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ผลวิเคราะห์น้ำที่ระบุข้อมูลแร่ธาตุสำคัญที่เป็นคุณสมบัติสำหรับแหล่งน้ำนั้นๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองวิเคราะห์น้ำบาดาล 0 2666 7383
สามารถขอรับใบอนุญาตได้ เพราะผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลเป็นเพียงการบอกถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์ ในการนำไปบริโภค หากต้องการนำน้ำไปใช้ในการบริโภคจะต้องลดปริมาณสารให้เป็นไปตามเกณฑ์ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการขอใช้น้ำเพื่ออะไร หากเป็นการดื่มกินหรือบริโภคก็ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้
แต่หากเป็นการใช้ที่ไม่เกี่ยวกับการดื่มกินก็อาจอนุโลมให้ใช้ได้ โดยหมายเหตุว่าน้ำบาดาลจากบ่อนี้มีลักษณะทางกายภาพอย่างไรเหมาะสำหรับนำไปใช้ในลักษณะใด เช่น ให้ระบุว่าเหมาะสำหรับใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น
สำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาดังนี้
1. กรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลและมีรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาลมาพร้อมด้วยแล้ว ไม่ต้องส่งตัวอย่างน้ำและเสียค่าวิเคราะห์น้ำอีก
2. กรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลยังไม่มีรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาลมาประกอบการพิจารณา ต้องดำเนินการดังนี้
(1) ผู้ขอรับใบอนุญาตเก็บตัวอย่างน้ำส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อนำน้ำตัวอย่างไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตร ไปวิเคราะห์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเสียค่าวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างละ 1,200 บาท
(2) ผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถส่งตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ได้ที่ส่วนราชการอื่น หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่วิเคราะห์คุณภาพน้ำ หรือสถาบันอื่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. หรือจะให้บริษัทเอกชนเป็นผู้วิเคราะห์คุณภาพน้ำก็ได้ แต่ต้องเป็นบริษัทเอกชนที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลออกหนังสือรับรองให้ และ
การวิเคราะห์คุณภาพน้ำนั้นจะต้องวิเคราะห์ตามเกณฑ์ หรือ พารามิเตอร์ ไม่น้อยกว่าที่กำหนด
กองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้บริการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลแก่ประชาชนและองค์กรต่างๆ โดยมีขั้นตอนการให้บริการ (15 วัน ทำการ) ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ผู้ต้องการขอรับบริการยื่นเอกสารคำขอวิเคราะห์ น้ำตัวอย่างไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตร พร้อมชำระค่าวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างละ 1,200 บาท ได้ที่ สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรุงเทพมหานคร และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด
ขั้นตอนที่ 2 สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จัดส่งเอกสารคำขอวิเคราะห์พร้อมตัวอย่างน้ำบาดาล ให้กองวิเคราะห์น้ำบาดาลดำเนินการ
ขั้นตอนที่ 3 กองวิเคราะห์น้ำบาดาล รับคำร้องฯ พร้อมตัวอย่างน้ำบาดาล โดยตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน แล้วลงวันที่รับตัวอย่าง
ขั้นตอนที่ 4 เจ้าหน้าที่กองวิเคราะห์น้ำบาดาล ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ
ขั้นตอนที่ 5 แจ้งผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลต่อผู้รับบริการ