ข่าวสารนํ้าบาดาล

7 วิธีการดูแลรักษา “บ่อน้ำบาดาล”

  • อัพเดทวันที่ 23 ก.ค. 64
  • อ่าน 7,704
  • เผยแพร่โดย T ADMIN
Email

บ่อน้ำบาดาล หมายถึง บ่อน้ำที่เกิดจากการเจาะน้ำบาดาล การสร้างหรือการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของบ่อที่เจาะ ปริมาณน้ำที่ต้องการ ความลึกของน้ำบาดาล รวมถึงลักษณะและสภาพทางธรณีวิทยา บ่อน้ำบาดาลอาจจะมีความลึกเพียง 20-30 เมตร หรืออาจจะลึกเป็นหลายร้อยเมตร 

ดังนั้น เมื่อมีการเจาะและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลแล้ว ก็จะต้องหมั่นดูแลและบำรุงรักษา เพื่อให้บ่อน้ำบาดาลมีคุณภาพและอายุการใช้งานที่ยาวนานต่อไปในช่วงฤดูฝนแบบนี้ บางพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย อาจทำให้บ่อน้ำบาดาลเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายจากเหตุน้ำท่วมขังหรือน้ำท่วมหลาก

 

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงขอแนะนำ 7 วิธีการดูแลรักษา “บ่อน้ำบาดาล” ดังนี้



1. ตัดหญ้าและวัชพืชรอบบริเวณบ่อน้ำบาดาล ปรับพื้นที่ หรือถมดินซ่อมแซมชานบ่อ และจัดทำทางระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วมขังบริเวณรอบบ่อน้ำบาดาล



2. ผนึกช่องว่างระหว่างแผ่นเหล็กรองรับเครื่องสูบน้ำกับปากบ่อน้ำบาดาลด้วยแผ่นยาง หรือกรณีติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมบ่อแล้วให้ตรวจสอบว่าอุปกรณ์อยู่ในสภาพดี สามารถป้องกันของเหลวไหลลงบ่อน้ำบาดาล หรือไม่ชำรุดในขณะน้ำท่วมหลาก หรือน้ำท่วมขัง



3. กรณีมีช่องว่างด้านข้างท่อกรุบ่อน้ำบาดาลเนื่องจากดินทรุดตัวให้นำดินเหนียวมาถมรอบบ่อ ปรับพื้นที่ และเทชานบ่อน้ำบาดาล



4. อุดรูวัดระดับน้ำ หรือผนึกรูสำหรับร้อยสายไฟฟ้าของเครื่องสูบน้ำเพื่อป้องกันน้ำ หรือ สิ่งสกปรกไหลลงสู่บ่อน้ำบาดาล



5. กรณีมีบ่อน้ำบาดาลข้างเคียงที่เลิกใช้งานแล้ว ควรดำเนินการเช่นเดียวกันกับบ่อที่ใช้งาน จากนั้นจึงวางแผนอุดกลบบ่อน้ำบาดาลที่เลิกใช้งานตามหลักวิชาการน้ำบาดาล



6. จัดหากระสอบทรายวางรอบตัวบ่อน้ำบาดาล และทับบนบ่อน้ำบาดาลเพื่อป้องกันวัสดุที่ไหลมากับน้ำกระแทกตัวบ่อน้ำบาดาล และป้องกันน้ำ หรือสิ่งสกปรกไหลลงสู่บ่อน้ำบาดาล หรือ นำวัสดุอื่น ๆ ที่แข็งแรงมาล้อมรอบบ่อน้ำบาดาล



7. เตรียมจัดทำอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมบ่อน้ำบาดาลแบบถาวรตามแบบเอกสารที่แนบ (QR-Code)