วีดิทัศน์

น้ำบาดาลและการเติมน้ำ

  • อัพเดทวันที่ 29 เม.ย. 64
  • 1,697 อ่าน
Email

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าบนโลกใบนี้มีแหล่งน้ำจืดอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆ นั่นคือ แหล่งน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบน้ำจืด และแหล่งน้ำใต้ดิน ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากน้ำฝน น้ำบาดาลมีมากกว่าน้ำผิวดินประมาณ 20 เท่า แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศและชั้นดิน ชั้นหิน ที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละพื้นที่มีปริมาณน้ำบาดาลแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น บริเวณภูเขา และที่สูง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าและเป็นแหล่งรับน้ำตามธรรมชาติจากฝนที่ตกลงมาและเกิดการซึมผ่านลงสู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลโดยธรรมชาติ จากนั้นน้ำบาดาลจะไหลซึมตามความลาดเอียงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำกว่า เราเรียกพื้นที่นี้ว่าที่ราบลุ่มต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่น้ำบาดาลไหลออกสู่แม่น้ำ คลอง ห้วย บึง เป็นน้ำผิวดินต่อไป ที่สำคัญการไหลซึมของน้ำฝนจากผิวดินลงไปใต้ดินซึ่งเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ปี แต่ต้องใช้เวลาในการซึมผ่านชั้นดิน หิน ลงไปสู่แหล่งกักเก็บยาวนานอาจเป็นเวลาร้อยหรือพันปีเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการที่เราสูบน้ำบาดาลขี้นมาใช้ในปริมาณที่มากและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่เพิ่มเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลตามธรรมชาติ ทำให้ระดับน้ำบาดาลในบางพื้นที่ลดลง การเติมน้ำใต้ดิน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยธรรมชาติในการเพิ่มเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลเพื่อยกระดับน้ำบาดาลให้สูงขึ้น เป็นการรักษาสมดุลน้ำบาดาลไว้ แต่ก็ใช่ว่าทุกพื้นที่จะทำได้ การเติมน้ำใต้ดินต้องพิจารณาสภาพอุทกธรณีวิทยาของพื้นที่ และยังต้องดูระดับและความลึกของน้ำบาดาล รวมไปถึงแหล่งน้ำดิบและคุณภาพของน้ำที่จะนำมาเติมด้วย บางพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น พื้นที่ดินเค็ม น้ำบาดาลเค็ม พื้นที่ใกล้แหล่งฝังกลบขยะ ใกล้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือใกล้โรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ควรทำการเติมน้ำ เพราะอาจส่งผลถึงคุณภาพของน้ำบาดาลที่เราต้องน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคต่อไป