วีดิทัศน์

การเติมน้ำใต้ดิน

การเติมน้ำบาดาลบริเวณที่ราบลุ่ม

เมื่อพูดถึงที่ราบลุ่มมักนึกถึงพื้นที่ติดแม่น้ำเป็นศูนย์กลางของความอุดมสมบูรณ์ ที่มีทั้งดินดี น้ำพร้อม จึงเป็นพื้นที่ที่ตั้งของชุมชน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว และพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนอยู่เป็นประจำ และเมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำผิวดินไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากขึ้น ชั้นน้ำบาดาลในพื้นที่ราบลุ่มเกิดจาการสะสมตัวของตะกอนทางน้ำทับถมเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี จนเกิดเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นชั้นน้ำในตะกอนกรวดทราย เป็นแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพดีที่สุด เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลในปริมาณมาก เพื่ออุปโภคบริโภคและหล่อเลี้ยงวิถีการเกษตรโดยเฉพาะในการทำนาปลูกข้าวทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลง จึงต้องมีการเติมน้ำใต้ดินเพื่อฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาลให้คืนสู่สมดุลตามธรรมชาติ โดยทั่วไปที่ราบลุ่มมักจะมีชั้นดินเหนียวปิดทับอยู่ด้านบนของชั้นตะกอนกรวดทรายทำให้น้้ำซึมผ่านไนด้ยาก การเติมน้ำใต้ดินจะต้องทำการขุดสระหรือบ่อทะลุชั้นดินเหนียวให้ลึกถึงชั้นตะกอนกรวดทรายที่เป็นชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่่งสามารถเติมน้ำได้ด้วยวิธีการง่ายๆคือ
1. การเติมน้ำฝนผ่านหลังคา คือ การรวบรวมน้ำฝนจากหลังคาบ้านเรือน หรืออาคารลงสู่บ่อเติมน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้แล้วยังเป็นการช่วยลดน้ำท่วมขังในชุมชนในอีกทางหนึ่ง
2. การเติมน้ำผ่านสระ คือการรวบรวมน้ำท่า หรือน้ำหลากผ่านบ่อพักน้ำหรือบึงประดิษฐ์เพื่อลดความขุ่นของน้ำก่อนลงสู่สระที่ขุดผ่านชั้นดินเหนียวลงไปถึงชั้นกรวดทรายข้างล่างที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ง่าย หรือใช้บ่อทรายเก่าที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
3. การเติมน้ำผ่านบ่อวงคอนกรีตหรือบ่อวงที่ถูกทิ้งร้าง เพื่อรวบรวมน้ำฝนหรือน้ำที่ไหลหลากในพื้นที่ผ่านระบบกรวดทรายกรองน้ำลงสู่บ่อเติมน้ำ

น้ำที่จะใช้เติมต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษ สารปนเปื้อน ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างระบบเติมน้ำควรเป็นวัสดุจากธรรมชาติ

29 เม.ย. 64

น้ำบาดาลและการเติมน้ำ

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าบนโลกใบนี้มีแหล่งน้ำจืดอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆ นั่นคือ แหล่งน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบน้ำจืด และแหล่งน้ำใต้ดิน ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากน้ำฝน น้ำบาดาลมีมากกว่าน้ำผิวดินประมาณ 20 เท่า แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศและชั้นดิน ชั้นหิน ที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละพื้นที่มีปริมาณน้ำบาดาลแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น บริเวณภูเขา และที่สูง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าและเป็นแหล่งรับน้ำตามธรรมชาติจากฝนที่ตกลงมาและเกิดการซึมผ่านลงสู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลโดยธรรมชาติ จากนั้นน้ำบาดาลจะไหลซึมตามความลาดเอียงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำกว่า เราเรียกพื้นที่นี้ว่าที่ราบลุ่มต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่น้ำบาดาลไหลออกสู่แม่น้ำ คลอง ห้วย บึง เป็นน้ำผิวดินต่อไป ที่สำคัญการไหลซึมของน้ำฝนจากผิวดินลงไปใต้ดินซึ่งเป็นการเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ปี แต่ต้องใช้เวลาในการซึมผ่านชั้นดิน หิน ลงไปสู่แหล่งกักเก็บยาวนานอาจเป็นเวลาร้อยหรือพันปีเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการที่เราสูบน้ำบาดาลขี้นมาใช้ในปริมาณที่มากและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่เพิ่มเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลตามธรรมชาติ ทำให้ระดับน้ำบาดาลในบางพื้นที่ลดลง การเติมน้ำใต้ดิน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยธรรมชาติในการเพิ่มเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำบาดาลเพื่อยกระดับน้ำบาดาลให้สูงขึ้น เป็นการรักษาสมดุลน้ำบาดาลไว้ แต่ก็ใช่ว่าทุกพื้นที่จะทำได้ การเติมน้ำใต้ดินต้องพิจารณาสภาพอุทกธรณีวิทยาของพื้นที่ และยังต้องดูระดับและความลึกของน้ำบาดาล รวมไปถึงแหล่งน้ำดิบและคุณภาพของน้ำที่จะนำมาเติมด้วย บางพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น พื้นที่ดินเค็ม น้ำบาดาลเค็ม พื้นที่ใกล้แหล่งฝังกลบขยะ ใกล้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือใกล้โรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ควรทำการเติมน้ำ เพราะอาจส่งผลถึงคุณภาพของน้ำบาดาลที่เราต้องน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคต่อไป

29 เม.ย. 64
จำนวนทั้งหมด 11 รายการ