วีดิทัศน์

การเติมน้ำบาดาลบริเวณที่ราบลุ่ม

  • อัพเดทวันที่ 29 เม.ย. 64
  • 499 อ่าน
Email

เมื่อพูดถึงที่ราบลุ่มมักนึกถึงพื้นที่ติดแม่น้ำเป็นศูนย์กลางของความอุดมสมบูรณ์ ที่มีทั้งดินดี น้ำพร้อม จึงเป็นพื้นที่ที่ตั้งของชุมชน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว และพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนอยู่เป็นประจำ และเมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำผิวดินไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากขึ้น ชั้นน้ำบาดาลในพื้นที่ราบลุ่มเกิดจาการสะสมตัวของตะกอนทางน้ำทับถมเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี จนเกิดเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นชั้นน้ำในตะกอนกรวดทราย เป็นแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพดีที่สุด เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลในปริมาณมาก เพื่ออุปโภคบริโภคและหล่อเลี้ยงวิถีการเกษตรโดยเฉพาะในการทำนาปลูกข้าวทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลง จึงต้องมีการเติมน้ำใต้ดินเพื่อฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาลให้คืนสู่สมดุลตามธรรมชาติ โดยทั่วไปที่ราบลุ่มมักจะมีชั้นดินเหนียวปิดทับอยู่ด้านบนของชั้นตะกอนกรวดทรายทำให้น้้ำซึมผ่านไนด้ยาก การเติมน้ำใต้ดินจะต้องทำการขุดสระหรือบ่อทะลุชั้นดินเหนียวให้ลึกถึงชั้นตะกอนกรวดทรายที่เป็นชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่่งสามารถเติมน้ำได้ด้วยวิธีการง่ายๆคือ
1. การเติมน้ำฝนผ่านหลังคา คือ การรวบรวมน้ำฝนจากหลังคาบ้านเรือน หรืออาคารลงสู่บ่อเติมน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้แล้วยังเป็นการช่วยลดน้ำท่วมขังในชุมชนในอีกทางหนึ่ง
2. การเติมน้ำผ่านสระ คือการรวบรวมน้ำท่า หรือน้ำหลากผ่านบ่อพักน้ำหรือบึงประดิษฐ์เพื่อลดความขุ่นของน้ำก่อนลงสู่สระที่ขุดผ่านชั้นดินเหนียวลงไปถึงชั้นกรวดทรายข้างล่างที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ง่าย หรือใช้บ่อทรายเก่าที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
3. การเติมน้ำผ่านบ่อวงคอนกรีตหรือบ่อวงที่ถูกทิ้งร้าง เพื่อรวบรวมน้ำฝนหรือน้ำที่ไหลหลากในพื้นที่ผ่านระบบกรวดทรายกรองน้ำลงสู่บ่อเติมน้ำ

น้ำที่จะใช้เติมต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษ สารปนเปื้อน ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างระบบเติมน้ำควรเป็นวัสดุจากธรรมชาติ